คสช.กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินหน้ากำหนดกรอบแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายให้เสร็จตามกรอบเวลาไซเตส

ข่าวทั่วไป Tuesday August 19, 2014 11:41 —สำนักโฆษก

คสช.พิจารณาสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายตามแผนงานและกรอบระยะเวลาที่ไทยได้ตกลงในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้จะสูญพันธุ์หรือไซเตส

วันนี้ 19 ส.ค. 2557 เวลา 15.00 น. ณ สโมสรทหารบกเทเวศร์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 9/2557 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานฯ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติฝ่ายพลเรือน แถลงว่า ที่ประชุม คสช.ได้มีการหารือถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาไซเตส (CITES) และการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย ซึ่งวันนี้ คสช.พิจารณาสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายตามแผนงานและกรอบระยะเวลาที่ไทยได้ตกลงในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้จะสูญพันธุ์หรือไซเตส ครั้งที่ 65 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.2538

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายเป็นประเด็นที่ประเทศภาคีอนุสัญญาซเตสให้ความสำคัญมาก มีการติดตามความคืบหน้าของทางการไทยในการควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศ มาตั้งแต่การประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 12 เมื่อปี 2545 ล่าสุดการประชุมระหว่างวันที่ 7-11 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางผู้แทนไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศได้เจรจากับทางสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และมีข้อตกลงร่วมกันว่าประเทศไทยต้องดำเนินการ คือ 1. ต้องปรับปรุงแผนปฏิบัติการของประเทศในการป้องกันการค้างาช้าง (เอ็นไอเอพี) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2557 ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการออกกฎหมายควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศและการครอบครองงาช้าง การออกกฎหมายเพื่อจัดตั้งระบบจดทะเบียนสำหรับการค้างาช้าง

รวมถึง การบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้างาช้างผิดกฎหมาย 2. ไทยจะต้องนำเสนอรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติตามเอ็นไอเอพีภายในวันที่ 15 มกราคม 2558 3. จะต้องนำเสนอรายงานความคืบหน้าอีกครั้งภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเห็นด้วยกับแนวทางตามที่มีการเสนอ เมื่อมีกฎหมายบังคับใช้แล้วไทยก็จะเชิญฝ่ายเลขานุการของไซเตสรวมถึงประเทศที่เกี่ยวข้องมาดูงานที่ประเทศไทยเพื่อรับทราบถึงความก้าวหน้าและพัฒนาการต่างๆ รวมถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ