รมว.วท. ยัน! “ซินโครตรอนไทย” พร้อมเป็นศูนย์กลางการวิจัยในระดับอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday November 20, 2014 14:02 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ชี้เป็นเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ยกให้เป็น “ห้องปฏิบัติการวิจัยกลางแห่งชาติ” ที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพ หวังสร้างองค์ความรู้ทางด้านแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งส่งเสริมงานวิจัยด้านต่างๆ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยในระดับอาเซียน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดยมี ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน คณะผู้บริหารและนักวิจัย ให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า “การเดินทางมาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ประเทศไทยมีนั้นมีศักยภาพและคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ สำหรับแสงซินโครตรอนซึ่งถือเป็นแสงชนิดหนึ่งที่เหมือนกับแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ แต่มีความสว่างจ้ามากกว่าล้านเท่า จึงสามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่นำไปใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ใช้ส่องดูสิ่งเล็กๆในระดับอะตอมได้ จึงจำเป็นต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ในหลากหลายด้าน อาทิ การแพทย์ การเกษตร โบราณคดี สิ่งแวดล้อม วัสดุศาสตร์ และอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่เน้นการให้ความสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนากำลังคน โดยสถาบันฯ แห่งนี้มีบทบาทเป็น “ห้องปฏิบัติการกลาง” ของประเทศที่มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และตอบโจทย์ปัญหาของอุตสาหกรรม ทำให้เรามีศักยภาพที่จะแข่งขันกับนานาประเทศได้”

“สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมามีบริษัทต่างๆ เข้าใช้บริการห้องปฏิบัติการแสงสยามเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแค่ใช้ในการแก้ปัญหากระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ยังประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งในยุคที่มีการแข่งขันทางการค้าสูง รวมถึงการรวมกลุ่มกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องนำวิทยาการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า แสงซินโครตรอนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้เรามีข้อได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากเครื่องมือที่มีคุณภาพ สถาบันฯยังมีความพร้อมทางด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านการวิจัยในระดับอาเซียนอีกด้วย” ดร.พิเชฐ กล่าวในตอนท้าย

ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน / น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์

เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1252,1601 โทรสาร 0-4421-7047

อีเมลล์: sasipun@slri.or.th, pr@slri.or.th

ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ