ทุกฝ่าย ร่วมถก “ทำมาตรฐานสิทธิแรงงานอาเซียน”

ข่าวทั่วไป Tuesday December 2, 2014 15:35 —สำนักโฆษก

ก.แรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือประเด็นการจัดทำมาตรฐานอาเซียนและกลไกของอาเซียนในเรื่องของสิทธิของแรงงานต่างด้าว เล็งยกระดับสิทธิแรงงานสู่มาตรฐานอาเซียน

นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเปิดงานสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่อง “The Regional Consultation on Prospects Challenges to Developing ASEAN Standard and Mechanism on the Rights of Workers” ว่า ประเทศไทยนับเป็นเป้าหมายปลายทางของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน การปรึกษาหารือระหว่างภูมิภาคในเรื่องของประเด็นในการจัดทำมาตรฐานอาเซียนและกลไกของอาเซียนในเรื่องของสิทธิของแรงงานในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานเข้าใจถึงความสำคัญและการมีส่วนช่วยในเรื่องของแรงงานต่างด้าว นับว่าแรงงานเหล่านี้มีส่วนช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงได้มีการริเริ่มกฎ นโยบาย และมาตรการหลายอย่างในการที่จะคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิของแรงงานต่างชาติในประเทศไทย ทั้งนี้ ในการปรึกษาหารือครั้งนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับอาเซียนในการที่จะก้าวไปข้างหน้าในเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยและมีการแบ่งปันระหว่างประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งถือว่าจะเป็นสิ่งสำคัญของการร่วมมือในอนาคตและการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก) กล่าวว่า แรงงานในปัจจุบันต้องเผชิญปัญหามากมายซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิแรงงาน แม้ว่าแรงงานเหล่านั้นจะทำงานภายใต้สัญญาหรือไม่ก็ตาม ความพยายามของเราจะทำให้เกิดความร่วมมือระดับองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในเรื่องของสิทธิของแรงงานมากขึ้นในการสนับสนุนความเป็นหน่วยงานของอาเซียน โดยการที่จะจัดทำมาตรฐานและกลไกลของอาเซียน อาเซียนมีมาตรการและมีกลไกจำนวนมากที่จะคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิแรงงาน อย่างเช่น ปฏิญญาของอาเซียนในการส่งเสริมและป้องกันสิทธิแรงงานต่างด้าว หรือเรียกว่า ปฏิญญาเซบู รวมถึงมีปฏิญญาอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ที่อยู่ในแง่ของกฎหมายและนโยบายของคนงาน อย่างไรก็ตาม หากมีมาตรฐานอาเซียนจะทำให้เกิดการคุ้มครองแรงงานทุกคน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีพันธะในการที่จะพัฒนากฎหมายแห่งชาติเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล คณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการจัดตั้งเป็นนโยบายและการบริหารจัดการในระดับประเทศตามแผนของรัฐบาลต่อไป

“เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าศักยภาพของเราในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้นสำหรับประชาคมอาเซียน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิทธิในด้านแรงงานดีขึ้น หากประเทศสมาชิกในอาเซียนสามารถที่จะวางมาตรฐานร่วมกันในการที่จะส่งเสริม ป้องกัน สิทธิของคนงานไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ผลประโยชน์ที่ได้แน่นอนว่าจะทำให้ประเทศที่มีคนงาน ผลพวงที่จะเกิดขึ้นจะทำให้มีระบบในการที่จะป้องกันสิทธิแรงงาน ภายใต้คำขวัญที่บอกว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งสัญลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ซึ่งภารกิจของเราก็คือการยกระดับสิทธิของแรงงานในมาตรฐานอาเซียน” รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก) กล่าว

ศ.ดร.อัมรา พงศาพิชต์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องพยายามที่จะพัฒนามาตรฐานของอาเซียนและกลไกต่างๆ สำหรับแรงงานต่างด้าว สิทธิประโยชน์ของแรงงาน ดิฉันได้กล่าวไว้ในเวทีประชุมเวทีหนึ่งว่าในอนาคตจะไม่มีแรงงานต่างด้าว จะมีแต่แรงงานอาเซียนเท่านั้น เพราะต่อไปจะสามารถข้ามชายแดนได้อย่างเสรี และหลังจากนั้นคือทิศทางที่เราจะพิจารณา สิ่งท้าทายอย่างหนึ่งในวันนี้คือจะต้องบูรณาการนโยบายในระดับชาติและระดับภูมิภาคเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี ในทัศนะคติของคณะกรรมการมนุษยชนถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะปกป้องสิทธิของแรงงานต่างด้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยจะพยายามเดินตามเส้นทางนี้เพื่อจะพัฒนาโครงการในส่วนของแรงงานต่างด้าวร่วมกันในประเด็นต่างๆ โดยจะวางแผนกันในระดับภูมิภาคอาเซียน เน้นเรื่องสาระ การพัฒนา การนำไปดำเนินการในแง่ของกฎหมายต่างๆ พยายามประเมินลักษณะสภาพแวดล้อมของการอพยพถิ่นฐานของแรงงาน อาจจะพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ในการที่จะคุ้มครองแรงงานเหล่านี้และพยายามหาทิศทางว่าจะให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไรด้วย

ดร. เสรี นนทสูต ผู้แทนไทยใน AICHR : ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights กล่าวว่า การปรึกษาหารือระหว่างภูมิภาคในเรื่องของประเด็นในการจัดทำมาตรฐานอาเซียนและกลไกของอาเซียนในเรื่องของสิทธิของแรงงาน เน้นเกี่ยวกับเรื่องพัฒนามาตรฐานและกลไกของอาเซียนในเรื่องสิทธิของแรงงาน ความท้าทายคือการพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาที่จะมีความผูกพันทางด้านกฎหมายสำหรับทุกประเทศ ทั้งนี้เห็นว่าการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับแรงงานต่างด้าวนับเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียนเช่นกัน หวังว่าการหารือในวันนี้จะทำให้ได้ร่างมาตรฐานของอาเซียนในการที่จะคุ้มครอง และปกป้องแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ให้ได้ AICHR พร้อมที่จะรองรับการร่วมมือต่างๆ และพร้อมจะให้ความร่วมมือ

สำหรับการจัดสัมมนาระดับภูมิภาคเรื่อง “The Regional Consultation on Prospects Challenges to Developing ASEAN Standard and Mechanism on the Rights of Workers” (การปรึกษาหารือระหว่างภูมิภาคในเรื่องของประเด็นในการจัดทำมาตรฐานอาเซียนและกลไกของอาเซียนในเรื่องของสิทธิของแรงงาน) มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือ แบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ วิธีการปฏิบัติที่ดี บทเรียน รวมทั้งสิ่งท้าทายต่างๆ ในการที่จะนำมาเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลอาเซียนต่อไป รวมถึงหารือความเป็นไปได้ในการที่จะพัฒนาข้อตกลงอาเซียนเพื่อจะคุ้มครองส่งเสริมส่งเสริมสิทธิของแรงงานให้ครอบคลุมทุกประเภท เพื่อจะก้าวไปสู่การคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว ซึ่งพิจารณาจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นซึ่งศึกษาจากแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานและความเป็นไปได้ในการที่นำกลไกปกป้องสิทธิแรงงานในอาเซียนและมีการร่างข้อตกลงของอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและป้องกันสิทธิของแรงงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ