กขร.ย้ำทุกส่วนราชการให้ยึดยุทธศาสตร์ฯ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นหลักในการทำงาน

ข่าวทั่วไป Friday January 16, 2015 13:09 —สำนักโฆษก

คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ย้ำทุกส่วนราชการให้ยึดยุทธศาสตร์ฯ ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นหลักในการทำงาน โดยกำหนดกรอบระยะเวลาแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถติดตามและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (16 ม.ค.58) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 1/2558 ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งที่ประชุมรับทราบว่า หลักการสำคัญของการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานโยบายรัฐบาล (กขร.) ในวันนี้ เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด ส่วนการทำงานในระยะต่อไปของ กขร. คือการขับเคลื่อนและเร่งรัดการทำงานของทุกกระทรวงให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล นอกจากเรื่องที่ กขร. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและเร่งรัดอยู่ในขณะนี้ คือ ด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ด้านการปฏิรูปประเทศ และด้านการบริการราชการแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย 11 ด้าน ได้แก่ 1) การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2) การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ 3) การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ 4) การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 5) การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพประชาชน 6) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ 7) การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน 8) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม 9) การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 10) การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาธิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และ11) การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ในการขับเคลื่อน 21 เรื่องของนโยบายสำคัญของรัฐบาล ได้มีการประสานและส่งเรื่องดังกล่าวให้กับเจ้าภาพหลักเรียบร้อยแล้ว

พร้อมทั้ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกลไกการทำงานของ กขร. ที่มีความเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกันว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล (กขน.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คน เป็นรองประธานกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ อาทิ ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาลแล้วรายงานผลการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ เชิญหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการอื่นมาชี้แจง ให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นตามที่คณะกรรมการเห็นควร แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือหรือปฏิบัติงานตามความเหมาะสม โดยให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจในการเชิญหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการอื่น มาชี้แจง ให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นตามความจำเป็น ปฏิบัติหน้าที่อื่นตาที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นต้น

สำหรับนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งการทำงานของ กขน. จะมีการประสานเชื่อมต่อกับการทำงานของ กขร. อย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของ กขร. จะเน้นในเรื่องของการติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดการปฏิบัติงานประจำ แผนปฏิบัติการในช่วงระยะเวลา 1 ปี ขณะที่ กขน. จะดูในเรื่องของนโยบายหลักและนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดทั้งการปฏิบัติงานประจำและนโยบายสำคัญของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในส่วนของรัฐบาลยังจะมีการทำงานแบบคู่ขนานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ด้วย ดังนั้นกลไกหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของทุกกระทรวงตามนโยบายของรัฐบาล มีทั้งหมด 3 กลไก ได้แก่ 1) กลไก กขน. ที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2) กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 3) กลไก กขร. ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนเร่งรัดของรัฐบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศสำหรับปี 2558 ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคง อย่างยั่งยืน” นั้น เพื่อให้การดำเนินนโยบายและแผนงานต่าง ๆ ของส่วนราชการบรรลุผลตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงให้ส่วนราชการที่ประสงค์จะเสนอเรื่องประเภทนโยบาย แผนงาน โครงการต่อคณะรัฐมนตรีจะต้องมีแผนการดำเนินการที่ชัดเจนและยึดยุทธศาสตร์ประเทศดังกล่าวโดยดำเนินการ ดังนี้ 1. แผนปฏิบัติการที่จะดำเนินการในช่วงระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 1 ปี 2. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ โดยกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และตัวชี้วัตที่ชัดเจน สามารถติดตามและประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ3. แผนการใช้จ่ายงบประมาณหรือแหล่งเงินอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ ทั้งนี้หากการดำเนินการของทุกภาคส่วนรวมทั้งในเรื่องของการปฏิรูปประเทศที่ สปช. ดำเนินการอยู่ได้ยึดยุทธศาสตร์ฯ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคง อย่างยั่งยืน” เป็นหลักและกรอบเชื่อมั่นว่าจะทำให้การขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นการบูรณาการทำงานอย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กขร. ได้มีการพิจารณาและหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 31 ธันวาคม 2557) ทั้งด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ด้านการปฏิรูปประเทศ และด้านการบริการราชการแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย 11 ด้าน โดยการดำเนินงานหลายด้านก็มีความคืบหน้าไปโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่กระทรวงมหาดไทย ได้ปฏิบัติงานตามนโยบายปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปร่วมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ ซึ่งมีผลการดำเนินงาน อาทิ โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์โดยผ่านกลไกระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจการบริหารราชการของรัฐบาลและ คสช. โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 4,233,399 คน หรือการเชิญคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาปรับทัศนคติปรึกษาหารือ ฯลฯ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยผ่านกลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน โครงการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยเพื่อเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ให้ประชาชามีความรู้ความเข้าใจหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทารงเป็นประมุข เพื่อสร้างความปรองดองลดการเผชิญหน้า

การแก้ปัญหาความต้องการของประชาชนที่ได้จากเวทีปฏิรูป ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม– 31 สิงหาคม 2557 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งจังหวัด อำเภอ ทบทวนและแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชนที่เกิดจากเวทีปฏิรูปแล้ว โดยจังหวัดสามารถแก้ไขปัญหาเองได้ โดยมีปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งสิ้น จำนวน 10,324 เรื่อง และได้แก้ไขแล้ว จำนวน 3,916 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 37.93 และจะแก้ไขให้ได้ร้อยละ 90 ภายในเดือนกันยายน 2558 นอกจากนี้ยังมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจข่าวสารที่ถูกต้อง ให้กับประชาชนในระดับพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ร้องทุกข์ โดยศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งขณะนี้ดำเนินการ ใน 3 ระดับ คือ จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจากผลสำรวจการดำเนินงานที่ผ่านมาของศูนย์ดำรงธรรมอยู่ในระดับที่ประชาชนพึงพอใจ

ด้านการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพหลัก ได้รายงานถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1) การสนับสนุนการดำเนินการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่ง คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 เห็นชอบข้อเสนอการปฏิรูปประเทศตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอและส่งให้ สปช. เรียบร้อยแล้ว

2) การติดตามการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในเรื่องหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ โดยการเร่งรัดดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 และเรื่องการนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอความเห็นให้ “การนำเสนอพื้นที่อนุรักษ์ในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก” ให้เป็นประเด็นปฏิรูปเร็ว (Quick Win) เนื่องจากทะเลอันดามันเป็นพื้นที่ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งธรณีสัณฐานระบบนิเวศที่สมบูรณ์สวยงามเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลสูงที่สุดในประเทศไทย และเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทำรายได้ เกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่าการขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลกนั้นจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ตลอดจนเป็นการบริหารการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และจะเป็นการจัดการดูแลพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สปช. เห็นชอบให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติฯ นำประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสมาชิก สปช.ไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงแก้ไขรายงานการพิจารณาฯ เพื่อเสนอประธาน สปช. ให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้เร่งรัดส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนเสนอเอกสารเพื่อขอบรรจุพื้นที่อนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อเป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อยื่นต่อศูนย์มารดกโลกต่อไป ในการนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) สั่งการให้เรื่องดังกล่าวเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นแล้ว

และ3) การขับเคลื่อนงานด้านปฏิรูปของรัฐบาล อาทิ การปฏิรูประบบการคุ้มครองทางสังคม โดยจะเป็นการสร้างหลักประกันรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายและผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ การจัดสวัสดิการขั้นพื้นที่ฐานเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ปรับปรุงกลไกที่เอื้อต่อการพัฒนาและคุ้มครองสิทธิ เช่น การผลักดันร่างกฎหมาย 5 ฉบับ การส่งเสริมให้มีการลงทุนทางสังคม การปฏิรูปสื่อเพื่อสังคม และการปฏิรูประบบการเงินการคลังที่เอื้อต่อการพัฒนา

นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนภารกิจของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งได้มีการจัดทำกรอบทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญในระยะต่อไป โดยมีแผนสำคัญ 4 แผนงาน คือ 1) แผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิต เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถแข่งขันได้ และมีรายได้ 2) แผนเพิ่มศักยภาพสหกรณ์ในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ 3) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ดิน และที่ดิน และ 4) แผนแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน

อย่างไรก็ตามแม้หลายเรื่องจะมีผลการดำเนินงานคืบหน้าไปโดยลำดับ แต่ก็ยังมีบางเรื่องซึ่งอยู่ในส่วนของด้านการบริหารราชการแผ่นดินต้องมีการเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น นโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งที่ประชุม กขร. ได้รับทราบรายงานการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณจากผู้แทนสำนักงบประมาณ ที่ได้มีการดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแล้ว พร้อมทั้งที่ประชุม กขร. ได้เน้นย้ำให้ส่วนราชการดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำเรื่องการสร้างความปรองดองฯ และศูนย์ดำรงธรรมว่า ให้ดำเนินการตามแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในห้วง 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้การที่จะสร้างความปรองดองฯ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในเรื่องของการรับรู้ของประชาชนนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยกระทรวงมหาดไทย กอ.รมน.จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อประชาชนในพื้นที่มีความรักสามัคคีและเข้าใจกัน ป้องกันปัญหาการแย่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


แท็ก ทศชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ