เอกชนเฮ หลังครม. ไฟเขียวให้ นักวิจัย – นักเรียนทุนรัฐบาลทำงานภาคอุตสาหกรรมได้

ข่าวทั่วไป Friday February 20, 2015 14:10 —สำนักโฆษก

กระทรวงวิทย์ฯ ปลดล็อคเงื่อนไข นักวิจัย-นักเรียนทุน ไม่สามารถทำงานในภาคเอกชน “ดร.พิเชฐ” ยันผู้ปฏิบัติงานสามารถนับอายุงาน และการใช้ทุน ทั้งได้สิทธิขึ้นเงินเดือนเลื่อนตำแหน่งตามเกณฑ์ต้นสังกัด เตรียมจัดงาน Talent Mobility Fair จับคู่นักวิจัยกับภาคธุรกิจ 25 มี.ค. นี้

20 กุมภาพันธ์ 2558/ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ นโยบายส่งเสริมบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอ นั้น ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า นโยบาย Talent Mobility เป็นกลไกสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยหนึ่งในนโยบายรัฐบาล คือ มาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา สู่เป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์ ของ จีดีพี ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนลงทุนของภาคเอกชนกับภาครัฐ 70 : 30 จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พบว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนนับจากปี 2551 – 2556 ได้เพิ่มขึ้นจาก 7,273 ล้านบาทเป็น 26,768 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 368 เปอร์เซ็นต์

“เมื่อเอกชนเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จะเกิดความต้องการบุคลากรด้าน วทน. มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน บุคลากรเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในภาครัฐและภาคอุดมศึกษาถึง 83 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนมีบุคลากรดังกล่าวเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ นโยบาย Talent Mobility จะทำให้เกิดการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกัน” ดร.พิเชฐ กล่าว

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากนี้เป็นต้นไป กฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้นักวิจัย และนักเรียนทุนรัฐบาลไม่สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนได้ จะถูกคลี่คลาย โดยผู้ไปปฏิบัติงานภายใต้นโยบาย Talent Mobility ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา โดยให้นับเป็นอายุราชการหรืออายุงานของหน่วยงานต้นสังกัด และสำหรับผู้ที่มีข้อผูกพันตามสัญญาชดใช้ทุน ให้นับเป็นเวลาใช้ทุนตามสัญญาด้วย อีกทั้งยังให้บุคลากรดังกล่าวสามารถใช้ผลการปฏิบัติงานในภาคเอกชน เป็นผลงานในการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือตำแหน่งงานอื่นๆ รวมถึงการขึ้นเงินเดือน ตามเกณฑ์ที่หน่วยงานต้นสังกัดจะจัดทำขึ้น

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทน. ได้นำร่องจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility หรือ TM Clearing House เพื่อรวบรวมข้อมูลจำนวนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญประมาณ 30,000 คน และข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงการประสานงานจับคู่บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมี TM Clearing House กระจายอยู่ 4 แห่งทั่วประเทศ คือ ส่วนกลางที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนักวิจัยเข้าร่วม 80 คน นักศึกษา 31 คน ใน 36 บริษัท ทั้งนี้ มีสถานประกอบการที่อยู่ระหว่างการจับคู่จำนวน 134 โครงการ ต้องการนักวิจัยกว่า 200 คน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sti.or.th/talentmobility โทรศัพท์ 02 160 5432 ต่อ 222

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จและขับเคลื่อนนโยบาย Talent Mobility อย่างเป็นทางการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทน. จึงได้จัดงาน Talent Mobility Fair ขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2558 โดยภายในงานจะจัดให้เอกชนพบปะนักวิจัย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิจัยที่ไปทำงานในภาคเอกชน และนำเสนอผลงานวิจัยเด่นจากหน่วยงานพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวฐานข้อมูลนักวิจัยเพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนอีกด้วย

นอกจากนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อสื่อมวลชนตามที่ ครม. เห็นชอบโครงการเคลื่อนย้ายบุคคลากรไปทำงานในภาคเอกชนในสาขาต่างๆ เมื่อวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมานั้น ถึงโครงการดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการวิจัย การเพิ่มขีดความสามารถและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว โครงการ Talent Mobility จะส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนใช้ทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนต้องการลงทุนด้านการวิจัยแต่ยังขาดทรัพยากรด้านบุคคลากร ในขณะที่ภาครัฐมีความพร้อมด้านบุคคลากรจึงมีการสนับสนุนให้นักวิจัยภาครัฐเข้าทำงานในภาคเอกชนได้ภายใต้ข้อเสนอที่ภาครัฐได้กำหนด คือ สนับสนุนบุคลากรภาครัฐทำงานในภาคเอกชนในตำแหน่งทางราชการ สนับนักเรียนทุนชดใช้ทุนรัฐบาลโดยทำงานในภาคเอกชน และการนำผลงานภาคการผลิตในภาคเอกชนมาปรับพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งราชการและเงินเดือนที่ต้นสังกัดได้

โครงการ Talent Mobility จับคู่นักวิจัย เพื่อ SMEsไทย ดังกล่าว เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย สวทน. เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่จัดทำแนวทางในการปฏิรูป โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพานำประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว หลุดออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ได้ในระดับ ร้อยละ1 ของ GDP และให้ภาครัฐสนับสนุนเอกชนในการทำวิจัยพัฒนา นำนวัตกรรมด้านวิทยาศสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบโจทย์การพัฒนา SMEs ไทยได้อย่างยั่งยืน

ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) ผู้แทนภาคเอกชน เปิดเผยถึงการดำเนินงานด้านการวิจัย โดยได้ดำเนินงานมากว่า 7 ปี ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 17 แห่ง หน่วยงานวิจัยจากภาครัฐ 9 หน่วยงาน และมีนักวิจัยกว่า 200 คน เอกชนได้รับประโยชน์มากมายสามารถทำ R&D รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของการร่วมมือกันของนักศึกษา การขยายผลจากโครงการ Talent Mobility โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม SMEs จะสามารถขยายผลการปฏิรูปของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง รายได้คนไทยจะมีมูลค่าสูงขึ้นและงานที่ทำก็ได้รับคุณค่ามากยิ่งขึ้นต่อไป

ดร.ปราการเกียรติ ยังคง สถาบันวิทยากรหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้แทนนักวิจัยและนักเรียนทุน กล่าวว่า วิทยาศาสตร์สามารถยกระดับชีวิตได้ เมื่อมีการปลดล็อคคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยโครงการ Talent Mobility จะถือได้ว่าเป็นการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม

เขียนข่าวโดย : ทีมงานโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ภาพข่าวโดย : นายรัฐพล หงสไกร

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ