รมว.แรงงาน ย้ำ จนท.ตรวจแรงงานประมง ‘ต้องเข้าใจกฎหมาย’ ส่งต่อ ‘ข้อมูล’ ที่เข้าใจง่ายแก่ประชาชน สร้างการรับรู้สู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง

ข่าวทั่วไป Friday February 27, 2015 17:42 —สำนักโฆษก

รมว.แรงงาน ย้ำ จนท.ตรวจแรงงานประมง ‘ต้องเข้าใจกฎหมาย’ ส่งต่อ ‘ข้อมูล’ ที่เข้าใจง่ายแก่ประชาชน สร้างการรับรู้สู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ลดปัญหาค้ามนุษย์แบบถาวรและยั่งยืน

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายในงานการประชุมชี้แจงนโยบายการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานพร้อมหารือกับตัวแทนภาคประมง 22 จังหวัดชายทะเล ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจแรงงานประมงรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายที่ใช้อย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถอธิบายสาระสำคัญด้วยภาษาที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย อาทิ ความแม่นยำในข้อกฎหมายประมงทะเล แรงงานประมงต้องอายุเกิน 18 ปี ต้องมีสัญญาจ้างงานก่อนลงเรือ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม นายจ้างต้องนำลูกจ้างไปรายงานตัวต่อพนักงานตรวจแรงงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจแล้วต้องเน้นสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการประมง แรงงานประมง ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อทำให้เกิดความยินยอมพร้อมใจในการก้าวเดินไปด้วยกันระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ต้องมีการเตรียมตัวเองให้พร้อมในการประกอบภารกิจ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 - 6 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาในการดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้

“การตรวจประมงทะเลสิ่งสำคัญคือเจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องของกฎหมายประมงและต้องสามารถอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความรู้สึกว่ายินยอมพร้อมใจในการที่จะต้องปฏิบัติ โดยต้องสร้างความเข้าใจ และทำความเข้าใจ จนกระทั่งนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายโสภาคย์ สัมมนานนท์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ปัญหาในภาพรวมในทางปฏิบัติของจังหวัดชุมพรได้มีการดำเนินการแล้วในบางส่วน โดยเฉพาะคณะตรวจเรือประมงชุดตรวจร่วมมีการร่วมกันทำงานเป็นอย่างดี เน้นการออกตรวจช่วงกลางคืนเนื่องจากการหาปลาทำในเวลากลางคืน อย่างไรก็ตาม จังหวัดได้เร่งรณรงค์ทำความเข้าใจกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากสถานประกอบการยังไม่ค่อยทราบเนื้อหามากนัก

นายเวียง สุวรรณะ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาพรวมของแรงงานข้ามชาติจังหวัดปัตตานีที่ทำงานเป็นลูกเรือช่วงแรกมีความสมัครใจเป็นลูกเรือ แต่เมื่ออยู่นานไปก็รู้สึกว่าไม่ชอบ ไม่อยากทำอีก ขอกลับเข้าฝั่งแต่กลับไม่ได้จึงเกิดการหนีด้วยการกระโดดลงน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาถูกมองเชื่อมโยงไปในเรื่องของการบังคับใช้แรงงาน อย่างไรก็ตามต้องพยายามสร้างความเข้าใจแก่นายจ้างให้คำนึงถึงสิทธิของลูกเรือประมง ตามกฎหมายประมงฉบับใหม่นี้ด้วย

นายวิสุทธิ์ อุทัยเลิศ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา กล่าวว่าจังหวัดสงขลามีการวางแผนการตรวจร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในส่วนของเรือประมงที่มีระยะห่างจากชายฝั่งไม่เกิน 10 ไมล์ทะเลไม่มีปัญหา นายจ้างดูแลเอาใจแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างดี เพราะต้องการแรงงานอยู่แล้ว ปัญหาส่วนใหญ่คือเรือที่ออกนอกน่านน้ำ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายประมงฉบับใหม่นี้กับเจ้าของเรือเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไปสำหรับข้อมูลล่าสุด ณ 26 กุมภาพันธ์ 2558

สรุปผลการตรวจแรงงานตามแผนตรวจแรงงานประมงทะเล แบบบูรณาการใน 22 จังหวัดติดชายทะเล มีการตรวจสถานประกอบการกิจการกลุ่มเสี่ยงประมงทะเลและที่เกี่ยวเนื่อง จำนวน 184 แห่ง ลูกจ้าง 4,340 คน พบปฏิบัติไม่ถูกต้อง 7 แห่ง ในเรื่องวันหยุดตามประเพณี ทะเบียนการลงเวลาทำงาน ทะเบียนการจ่ายค่าจ้างและทะเบียนลูกจ้าง ด้านการตรวจแรงงานในเรือประมงทะเล นายจ้าง 351 แห่ง เรือ 601 ลำลูกจ้าง 4,244 คน พบปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 23 ลำ ในท้องที่ 9 จังหวัด คือ ชลบุรี ตราด ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สตูล และชุมพร. พบการกระทำความผิดเรื่องการจ้างลูกจ้างต่ำกว่า 18 ปี 5 คน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 56 คน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน 7 คน ไม่มีทะเบียนลูกจ้าง ไม่มีสัญญาจ้าง สภาพการทำงานที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่มีห้องส้วม สภาพการทำงานในเรือประมงไม่ปลอดภัย พนักงานตรวจแรงงานมีการออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติ 17 คำสั่งและมีการดำเนินคดีนายจ้าง จำนวน 6 คดี

“กระทรวงแรงงานบริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ