นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจแก่ภาคธุรกิจอาเซียน พร้อมย้ำให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆจากการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่

ข่าวทั่วไป Monday April 27, 2015 16:24 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) โดยเสนอการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และภาคการเกษตร และสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ และผลักดันให้มีการลดมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ตลอดจน เสนอให้มีการพัฒนาตราสินค้าอาเซียน (ASEAN Brand)

วันนี้ (27 เมษายน 2558) เวลา 11.45 น. ณ ห้อง Conference Hall 1 ชั้น 3 อาคาร KLCC ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านการค้าและการลงทุนกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียน ผู้แทนของไทย คือ นายอรินทร์ จิรา รองเลขาธิการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณการรายงานกิจกรรมและผลดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และเห็นว่า การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไทยสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่ หากมีเรื่องใดที่จะช่วยให้การค้าและการลงทุนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นขอให้ภาคเอกชนเสนอมา โดยเห็นว่า ภาครัฐควรทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก

โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงข้อคิดเห็นเรื่องการขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนของอาเซียน ดังนี้

หนึ่ง ไทยตระหนักถึงความสำคัญของการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การปรับประสานมาตรฐาน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเห็นว่า การทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ซึ่งจะเพิ่มการค้า และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

สอง ไทยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME เราได้กำหนดให้การพัฒนา SMEเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนให้ความสำคัญ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME สามารถทำได้โดยการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา การช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งให้ความรู้ด้านการตลาด กฎระเบียบ และนวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างเถ้าแก่ใหม่ๆทางธุรกิจ SME ส่งเสริมให้ทายาทเหล่านี้ได้มีโอกาสพูดคุยสร้างเครือข่ายและความคุ้นเคยกันตั้งแต่วันนี้

สาม ไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเห็นว่าการเร่งเจรจาความตกลงฯ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ที่ทันสมัย ครอบคลุม และมีมาตรฐานได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาเซียน นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนพิจารณาพัฒนาตราสินค้าอาเซียน (ASEAN Brand) ในสาขาผลิตภัณฑ์ที่อาเซียนมีความเข้มแข็ง โดยหากภาคเอกชนประสงค์จะได้รับการสนับสนุนในประเด็นใดภาครัฐยินดีให้การสนับสนุน

การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของอาเซียนในการรวมตัวกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ ทำอย่างไรให้อาเซียนมีเสียงดังมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ภาคธุรกิจอาเซียนมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะยังคงยึดมั่นต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย และจะให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ตลอดจนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้า ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ทั้งพหุภาคีและทวิภาคีต่อไป ให้โอกาสทุกประเทศในอาเซียนในฐานะเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ในส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจไทยส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน การปรับปรุงด่าน ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน อาทิ การสร้างเส้นทางคมนาคม การพัฒนารถไฟทางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงตามขีดความสามารถ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ