โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ สั่งกระตุ้นเจ้าหน้าที่รัฐตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่อย่าเกียร์ว่าง ใช้การประเมินรูปแบบใหม่เริ่มเม.ย.59 มีผลในช่วงการแต่งตั้งโยกย้าย 1 ต.ค.59

ข่าวทั่วไป Tuesday January 12, 2016 11:27 —สำนักโฆษก

วันนี้ (12 ม.ค.59) เวลา 14.50 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ เกี่ยวกับกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระตุ้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐอย่าเกียร์ว่าง เพราะจะมีการประเมินผลในรูปแบบใหม่ซึ่งจะดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยมีจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 และจะมีผลในการแต่งตั้งปรับโยกย้ายในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงมหาดไทย โดยการประเมินผลรูปแบบใหม่ไม่ใช่จะดำเนินการเฉพาะข้าราชการเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้นำองค์กรรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชน ตลอดจนผู้บริหารในระดับท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ทูตตามสถานทูตต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับซี10 และชี11 ส่วนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีเป็นผู้พิจารณา โดยให้ยึดแนวทางตามกรอบของการประเมินผลของส่วนกลางเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติให้สอดคล้องกันด้วย

สำหรับวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์นายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งการไปแล้ว คือเร่งรัดให้ราชการทุกระดับ โดยเฉพาะที่ประเมินโดยส่วนกลางคือราชการระดับสูง (ซี10 และซี11) ให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ให้มีเกียร์ว่าง ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งบางส่วนอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ข้าราชการประจำพึงปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นการประเมินผลในรูปแบบใหม่นี้จะทำให้ข้าราชการตื่นตัวในการที่จะทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชการและปฏิรูปประเทศด้วย

ทั้งนี้ผลการประเมินดังกล่าวนอกจากจะมีผลต่อตัวบุคคลแล้ว ยังมีผลในการที่จะนำไปใช้ในการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขยายหน่วยงาน การยุบรวมหน่วยงาน ตลอดจนการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

ส่วนตัวชี้วัดที่จะนำมาใช้ในการประเมินรูปแบบใหม่นอกจากใช้ดัชนีชี้วัดในประเทศที่ใช้การประเมินโดยรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลแล้วก็จะมีการนำตัวชี้วัดที่เป็นผลมาจากดัชนีการชี้วัดจากต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาประเมินผลด้วย เช่น ICAO ธนาคารโลกที่กำหนดความน่าเชื่อถือในการลงทุน องค์กรที่ประเมินผลความโปร่งใสของประเทศ ฯลฯ มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดบ้างและได้ดำเนินการแล้วเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้การประเมินหน่วยงานเหล่านั้นเพิ่มพิเศษกว่าหน่วยงานอื่นด้วย อย่างไรก็ตามการประเมินผลดังกล่าวจะมีการพิจารณาดูถึงความตั้งใจจริงในการปฏิบัติหน้าที่ประกอบด้วยว่ามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด ใส่ใจในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบหรือไม่ เป็นต้น

--------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ