โฆษกรัฐบาลเผยกรณีปฏิรูปตำรวจ นายกฯ จะนำแนวทางของ ผบ.ตร.และ สปท. พิจารณาร่วมกับแนวทางต่าง ๆ ที่เตรียมการไว้หาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2016 13:50 —สำนักโฆษก

วันนี้ (5ก.พ.59) เวลา 13.30 น. ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2559 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจว่า นายกรัฐมนตรีจะนำแนวทางที่พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กำหนดไว้ในเบื้องต้นพิจารณาร่วมกับสิ่งที่สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอ รวมทั้งแนวทางต่าง ๆ ที่ได้มีการเตรียมการและวางแผนไว้ก่อนที่จะมีการประชุมหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำข้อสรุปเสนอนายกรัฐมนตรีผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงกรณีปัญหาอาคารแฟลตดินแดง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าแฟลตดินแดงมีปัญหามายาวนานแล้ว โดยปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือผู้ที่อยู่อาศัยบางคนมีความรู้สึกและคิดว่าตนเองอาจจะเสียประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ภายในที่พักอาศัยซึ่งบางคนต้องการ 42 ตารางเมตร แต่โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ในเกณฑ์มาตรฐานคือ 33 ตารางเมตร เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ข้อเสนอแนะว่าให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบพิจารณาดำเนินการให้ที่พักอาศัย 33 ตาราเมตร สามารถตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของผู้พักอาศัยได้อย่างเหมาะสมมีคุณภาพ รวมทั้งต้องมีการสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่ารัฐคงไม่สามารถที่จะตอบรับได้ทั้งหมดตามความต้องการ เพราะจำนวนคนที่อยู่อาศัยก็มีจำนวนมากพอสมควร ขณะที่ราคาก็อยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้อาจจะต้องมีการจัดลำดับ โดยผู้ที่ยินดียอมรับที่อยู่อาศัยในเกณฑ์มาตรฐาน 33 ตาราเมตร ก็อาจจะดำเนินการให้ก่อนในเฟสแรก ส่วนผู้ที่ต้องการขนาดพื้นที่พักอาศัยเป็น 42 ตารางเมตร หรือมากกว่านี้ก็อาจจะดำเนินการให้ในระยะต่อไป

..อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการวิจัยว่า ควรจะเน้นการวิจัยพัฒนาในนวัตกรรมที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นจะต้องตอบรับต่อภารกิจหลักสำคัญของรัฐบาลก่อน โดยเน้นย้ำให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในเรื่องเร่งด่วนก่อนเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้ เช่น เรื่องของยาพารา เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานที่ประชุมและนายกรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์เกี่ยวกับโรคระบาด ทั้งโรคเมอร์ส และโรคไข้ซิกา ว่า โรคเมอร์ส ขณะนี้ยังต้องมีการดูแลและเฝ้าติดตามอาการคนไข้ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดคนไข้ จำนวน 42 คน หากตรวจสอบไม่พบอะไรก็จะปล่อยให้กลับบ้านได้ ขณะที่โรคไข้ซิกาก็เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกับเมอร์ส ซึ่งพาหะของโรคดังกล่าวคือยุงลายเช่นกัน เพราะฉะนั้น ต้องรณรงค์ประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะของโรคให้หมดไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้ รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ระมัดระวังโดยเฉพาะสตรีที่ตั้งครรภ์เพราะเมื่อเป็นโรคดังกล่าวแล้วจะมีอาการคล้ายกับโรคหัดเยอรมัน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนดูแลตนเองและไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

รวมทั้ง กระทรวงมหาดไทยได้รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท โดยระบุว่าขณะนี้สามารถดำเนินการไปแล้วประมาณ 2,300 ล้านบาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ประมาณ 6 – 7 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะสามารถดำเนินการได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท และภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2559 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ครบทั้งหมด อย่างไรก็ตามปัญหาที่ดำเนินการล่าช้าในระยะเริ่มต้นนั้น เนื่องมากจากระบบคอมพิวเตอร์ และบุคคล โดยเฉพาะการให้พาสเวิร์ดต้องให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นรวมถึงเรื่องการกรอกข้อมูลในเอกสารมาบรรจุในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ข้อมูลทั้งสองส่วนถูกต้องและตรงกัน เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจจะสอบข้อมูลจากเอกสาร ดังนั้นจึงทำให้การดำเนินการดังกล่าวในระยะเริ่มต้นมีความล่าช้าไปบ้าง อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2559 น่าจะสามารถดำเนินการได้ครบ

ส่วนการจัดระเบียบแพทย์กรณีการใช้ทุนคืนนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าจะต้องกำหนดมาตรการที่รัดกุมและการดำเนินการให้ชัดเจน เช่น ไปศึกษาด้วยทุนอะไร กลับมาแล้วควรจะกลับมาทำงานใช้ทุนตรงไหน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้แพทย์มากระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่หรือกรุงเทพมหานคร แต่แพทย์ที่จบมาแล้วควรจะไปทำงานให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ท้องถิ่นและถิ่นทุรกันดาร ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเพื่อป้องกันแพทย์ที่จบแล้วออกนอกระบบไป

ขณะเดียวกันปลัดกรุงเทพมหานคร ได้รายงานเกี่ยวกับการบริหารการจัดการสิ่งรุกล้ำลำน้ำสาธารณะกรณีคลองลาดพร้าวว่า ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะสามารถดำเนินการระยะแรกได้ประมาณ 6 – 8 กิโลเมตร ซึ่งเรื่องนี้มีความก้าวหน้าโดยลำดับเนื่องจากกรุงเทพฯได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดชุดทีมงานไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเชื่อมั่นจะสามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 1,000 ครอบครัว จากทั้งหมด 1,400 ครอบครัวย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้สามารถที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณคลองลาดพร้าวเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและจัดระบบไม่ให้มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะเกิดขึ้นอีก

สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งขณะนี้สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามก่อนถึงฤดูฝนจะมีปัญหาในเรื่องน้ำต้นทุนที่ยังมีปริมาณน้อยอยู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องการเห็นภาพเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนเกษตรกรเกิดขึ้นอีก

------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ