นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ และวางรากฐานให้ประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday May 23, 2016 13:46 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายการบูรณาการเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ย้ำรัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ วางรากฐานให้ประเทศ ระบุไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกภายนอก

วันนี้ (23 พ.ค.59) เวลา 14.35 น. ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบาย “การบูรณาการเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บริหารภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ธนาคารของรัฐ และสื่อมวลชน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบาย สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า รัฐบาลพยายามบูรณาการการทำงาน แก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน เพราะเห็นในสิ่งที่บกพร่อง แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือความเข้าใจ ความร่วมมือมองไปข้างหน้า โดยต้องไม่ลืมนำปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ข้างหลังให้เดินไปข้างหน้าด้วย เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ฉะนั้น จึงเกิดการบูรณาการ ทำใหม่ คิดใหม่ แก้ไขวิธีการกระบวนการในการบริหารจัดการ ปรับในเชิงโครงสร้าง ปรับกิจกรรมให้มีการบูรณาการข้ามกระทรวงข้ามหน่วยงานในงานเดียวกัน บูรณาการรัฐ ข้าราชการกับประชาชน กับธุรกิจเอกชน และบูรณาการในส่วนของประชาชนด้วยกันให้มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งของตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่พึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งหมายในการบูรณาการ เพื่อปฏิรูปประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้สอดคล้องกับโลกในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน รวมทั้งเดินหน้าวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้าที่เป็นการตีกรอบกว้าง ๆ ใน 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลต่อไปดูแลคนทุกหมู่เหล่าให้เกิดความทั่วถึงเป็นธรรม ซึ่งความท้าทายวันนี้คือการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเราต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของโลก โดยจะต้องปฏิรูปประเทศเพื่อไม่ให้ถูกกดดันจากโลกภายนอก พัฒนาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างภาคภูมิใจ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลไม่มีความขัดแย้ง ประเทศมีเสถียรภาพ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเทียม

“ วันนี้ผมไม่ใช่เป็นนักการเมือง แต่เข้ามาทำงานการเมืองร่วมกับทุกคน แม้แต่ข้าราชการที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ทำงานการเมืองด้วย อย่าลืมว่าผลงานที่ผ่านมา ข้าราชการทุกระดับต่างก็ทำงานการเมืองทั้งสิ้น รัฐบาลมีเพียงหน้าที่ดำเนินนโยบายเท่านั้น ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์มามากพอสมควร ตั้งแต่โชติช่วงชัชวาลย์มาจนถึงวันนี้ ความท้าทายของเรามีอยู่มากมาย ที่ผ่านมาเราไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน การทำงานของกระทรวง ทบวง กรม ก็ต่างคนต่างทำ ทำงานแบบรูทีน รัฐบาลไม่ได้มองภาพในเชิงบูรณาการหรืออนาคต ก็ต้องตุปัดตุเป๋ไปมา ความเข้มแข็งจึงไม่เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อเติมด้วยความขัดแย้งเข้าไปอีก ก็ทำให้ปัญหามีมากขึ้น ดังนั้นการที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงการตีกรอบกว้าง ๆ และได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นเข็มทิศนำทางนำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องขับเคลื่อนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา และปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกันเพื่อเตรียมคนสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21 และศตวรรษต่อ ๆ ไป ดังนั้น จึงต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิดประชารัฐ ซึ่งวันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ที่เราต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับอารยธรรมของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องปรับตัวกับภัยคุกคามจากภายใน ภายนอก โดยในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของเราในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนจากสังคมที่พึ่งการเกษตร พึ่งตนเอง พึ่งการส่งออกสินค้าเกษตร ไปสู่การเป็นสังคมเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสีเขียว และปรับเปลี่ยนสู่สังคมฐานความรู้เศรษฐกิจสร้างมูลค่า แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของเรายังมีความขัดแย้งกันในเรื่องที่ไม่ได้เริ่มต้นจากระเบียบ ไม่ได้เริ่มจากกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เป็นปกติสุขมาก่อน พูดกันแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ จนลืมคำว่าหน้าที่ ดังนั้น การทำงานของพวกเราจึงยาก แต่ก็ยังสู้ได้ด้วยความเอาใจใส่ความจริงใจของพวกเรา เพื่อลูกหลานประเทศชาติในอนาคต พร้อมกับต้องมองตำแหน่งของไทยในเชิงยุทธศาสตร์ในเวทีโลกให้ประเทศไทยมีที่ยืนที่มั่นคงด้วย โดยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แก้ไขประเด็นที่เปราะบาง อ่อนไหว ไร้เสถียรภาพในทุกมิติ ไม่ให้เกิดความแตกแยกวุ่นวาย เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีการเมืองที่มีธรรมาภิบาลและมีเสถียรภาพ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังปฏิรูปประเทศในครั้งที่ 2 ซึ่งการปฏิรูปประเทศครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยวันนี้หากไม่มีการปฏิรูปเราจะถูกกดดันจากภายนอกในทุกมิติรวมทั้งจะมีแรงปะทุจากภายในของเรา ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ขอให้ทุกหน่วยงานทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นปัญหา รัฐบาลพร้อมจะแก้ไขปัญหาให้ แต่จะต้องมีการบูรณาการกันข้ามหน่วยงานในกิจกรรมเดียวกัน เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะทำทุกอย่างในเวลาเพียง 2 ปีหรือเวลาที่เหลืออยู่ตามโรดแมป จึงต้องนำกิจกรรมหลักขึ้นมาวางพื้นฐานให้ได้ก่อน ส่วนที่เหลือก็ทำคู่ขนานกันไป รวมทั้งต้องทำให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และในเรื่องคุณภาพของคน ต้องคิดถึงสังคมผู้สูงวัยที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีมากขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของประชากรไทย รวมทั้งเรื่องการขาดแรงงานวัยฉกรรจ์ที่เป็นปัญหาระยะยาว

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า วันนี้ต้องเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลก ต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่ใช่ทำโอกาสให้เป็นวิกฤตเพิ่มขึ้น ต้องเดินหน้าไปสู่อนาคตโดยต้องดูว่าจะเดินให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนอย่างไร ซึ่งก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาทำหน้าที่ก็ไม่โทษใคร แต่โทษตัวเองด้วย เรากำลังเป็นรัฐที่จะล้มเหลว และจะล้มเหลวทันทีถ้าไม่ได้ปฏิรูปโดยเริ่มจากตัวเอง ภาครัฐ และประชาชน อย่าคิดแต่เพียงอำนาจ ผลประโยชน์ ทุกวันนี้ถ้ามีทุจริตจะโดนหมด เราต้องสะอาดและโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นการปฏิรูปจึงต้องมีโรดแมปยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปมาแล้ว สำหรับเรื่องการค้าการลงทุน เราเปิดทั้งหมดทำให้มีการแข่งขัน ทำให้สร้างความเชื่อมั่นและลดการรั่วไหล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกกับทุกประเทศว่าไทยจะต้องไม่มีการทุจริตและคอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าหน่วยงานไหนบอกว่าต้องเสียเงินขอให้มาบอกแล้วจะลงโทษเดี๋ยวนั้น แต่ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีก็ไม่คิดว่าใครจะทำ ถ้ารักประเทศต้องไม่ทำ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการเมืองด้วยว่า ขอให้ทุกฝ่ายหนักแน่นเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวไม่เคยหมดกำลังใจ ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่าเชื่อการบิดเบือน พร้อมกับชี้แจงถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคง เพื่อให้สามารถผ่อนปรน ผ่อนผันได้ แต่หากมีการเรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 44 ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายปกติ โดยไม่ละเว้น ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันที่ให้ประเทศไทยมีหลักการที่สากลยอมรับ ขณะที่เรื่องประชามติก็เพื่อให้ทุกคนรับรู้รับทราบ

---------------------------

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ