นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรี กลุ่ม 77

ข่าวทั่วไป Saturday September 24, 2016 08:23 —สำนักโฆษก

วันนี้ 23 กันยายน 2559 เวลา 10.00 น. ณ ECOSOC Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ทั้งนี้ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 ของไทยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สามารถผลักดันผลประโยชน์ของกลุ่มฯ และรักษาพลวัตรการรับรองวาระสำคัญระดับโลกในห้วงปีที่ผ่านมา อาทิ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 วาระปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีนี้จึงเป็นปีแรกในการอนุวัติผลลัพธ์เหล่านี้

ปีนี้ ได้มีการนำวิสัยทัศน์ไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม อย่างสอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา กลุ่ม 77 มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในกรอบสหประชาติที่สำคัญ อาทิ (1) การทบทวนผลการอนุวัติวาระฯ ในระดับนโยบายในกรอบการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) การติดตามความคืบหน้าของการระดมทุนเพื่อตอบสนองต่อการอนุวัติวาระฯ (3) กระบวนการจัดทำกรอบตัวชี้วัดระดับโลกสำหรับ SDGs (4) กระบวนการเจรจาข้อมติเรื่องการติดตามและทบทวนผลการอนุวัติวาระฯ ในระดับโลก (5) การสนับสนุนการอนุวัติวาระฯ ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ผ่านการเจรจาจัดทำปฏิญญาทางการเมืองสำหรับการประชุมระดับสูงเพื่อทบทวนผลการดำเนินการระยะกลางตามแผนปฏิบัติการอิสตันบูลสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และ (6) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความร่วมมือใต้-ใต้

วาระ ค.ศ. 2030 เป็นเป้าหมายสำคัญที่ครอบคลุมงานทุกเสาหลัก ที่ทุกประเทศจะต้องบรรลุให้ได้ภายใน 14 ปีสิ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ มี 3 ประการที่สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง ทรัพยากรที่จะขับเคลื่อนการทำงานไปสู่การบรรลุเป้าหมายมีความสำคัญมาก ซึ่งทรัพยากรแรก คือเงินทุน มี 4 ช่องทางหลักที่จะระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนา ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การจัดเก็บภาษี และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ โดยต้องปฏิรูประบอบทั้งสี่นี้เพื่อระดมเงินทุนมาใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากที่ผ่านมา ละเลยกับผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนเช่นว่า โดยเฉพาะผลกระทบทางสังคม จึงต้องปฏิรูปเพื่อสร้างระบอบที่เป็นธรรม โปร่งใส เปิดกว้างสำหรับการเข้าถึง เคารพกฎเกณฑ์ กระจายรายได้ไปยังทุกภาคส่วนของสังคม และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

สอง ทรัพยากรอีกประเภทที่มีความสำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เน้นย้ำการพัฒนาที่สมดุลย์และยั่งยืน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมนุษย์นั้นเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ความท้าทายจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรที่จะดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาใช้อย่างเต็มที่ นั้นคือ เราต้องพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ด้วยการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิต รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนหรือแนวปฏิบัติที่ดีในด้านต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือ ทั้งเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามบริบทของตน นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง ผู้สูงอายุ สตรี และเยาวชน รวมทั้งผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ต้องจำกัดอุปสรรคที่อาจมาบั่นทอนศักยภาพของประชาชน รวมถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน อาทิ โรคระบาด ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ การก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรง ซึ่งกลุ่มเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

สาม คือ องค์ความรู้ เพราะการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมจะช่วยให้สร้างการเจริญเติบโตและการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด แต่ด้วยศักยภาพที่จำกัดของกลุ่ม จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศกำลังพัฒนา และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการของโลก แต่กำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างมาก จึงอาจพิจารณาร่วมมือกับกลุ่ม 20 หรือกลุ่มอื่นๆ ที่จะส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรในการผลิตที่ครอบคลุม เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก และได้ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภคไปพร้อมกัน อีกหนึ่งสาขาความร่วมมือที่สำคัญ คือ การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจทำให้ความพยายามในการพัฒนาที่ผ่านมาไม่เกิดผลตามที่คาด เนื่องจากขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ รวมถึงระหว่างประเทศใต้–ใต้ด้วย ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมจำนวนมากที่นอกจากจะช่วยยกระดับการพัฒนาแล้ว ยังมีราคาถูกและเหมาะสมกับบริบทของประเทศกำลังพัฒนาด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเป้าหมายร่วม คือ การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 ว่า ต้องอาศัยการรวมพลังกันจากทุกภาคส่วน เราจึงต้องสร้างหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาให้เกิดขึ้น ไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 จึงได้พยายามเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างโลกที่ดีขึ้น คือโลกที่ปราศจากความยากจน ซึ่งการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาก็เริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นบ้างแล้ว

ประเทศพัฒนาแล้วควรให้ความช่วยเหลือประเทศกลุ่ม 77 ทั้งความช่วยเหลือ ซึ่งเน้นผลในระยะสั้น และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ซึ่งเป็นการปูทางเพื่อผลในระยะยาว โดยคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มฯ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุมอย่างแท้จริงด้วย

ในขณะเดียวกัน กลุ่มฯ ต้องไม่ละเลยเรื่อง ความเป็นอิสระทางนโยบาย ของแต่ละประเทศในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับบริบทของตน แต่ก็ต้องสร้างความสอดประสานทางนโยบายระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น นโยบายการค้า การเงิน การคลัง การโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อรักษาเสถียรภาพและส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่ม 77 ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ที่เพิ่งจัดขึ้น ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่ม 77 ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่าเป็นความท้าทายที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ และยังเป็นโอกาสในการหารือกับกลุ่มหรือประเทศอื่น ๆ เพื่อหารือกันถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

การจะสร้างหุ้นส่วนระดับโลกให้เกิดขึ้นนั้น เริ่มจากความร่วมมือระหว่างมิตรประเทศใกล้ชิด คือภายในกลุ่ม 77 เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายในกลุ่มเป็นอันดับแรก ได้มีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในช่วงวาระที่ 3 คือ แนวทางอันหลากหลายของแต่ละประเทศในการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากไทยเชื่อว่าไม่มีสูตรสำเร็จสูตรเดียวสำหรับการพัฒนา ไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ทำให้ไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตและความท้าทายต่าง ๆ ได้ทุกครั้ง ซ้ำยังกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม จึงยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับประสบการณ์การประยุกต์ใช้ SEP ในฐานะแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปีนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสหประชาชาติ เนื่องจากจะมีการสรรหาเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ ผมขอขอบคุณท่านบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน ที่มีบทบาทสำคัญช่วยผลักดันวาระระดับโลกต่าง ๆ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่ม 77 ให้ความสำคัญและได้เข้าไปส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในกระบวนการสรรหาเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ โดยกลุ่มฯ สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการคัดเลือก เพื่อให้กระบวนการสรรหาเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นไปตามเจตจำนงของประเทศสมาชิกสหประชาชาติอย่างแท้จริง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ประชุมที่จะรับรองร่างปฏิญญารัฐมนตรีกลุ่ม 77 ที่สะท้อนถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมา และประเด็นต่าง ๆ ที่กลุ่มฯ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับการประชุม UNGA71 และการประชุม Habitat III ณ กรุงกีโต เอกวาดอร์ ซึ่งผมเชื่อว่า ด้วยศักยภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มฯ จะช่วยฝ่าฟันความท้าทายต่าง ๆ เพื่อบรรลุตามเป้าหมายและผลประโยชน์ของกลุ่ม 77

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ