นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Monday June 5, 2017 14:55 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

วันนี้(5 มิ.ย. 2560) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2560 “ประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัยการค้ามนุษย์” โดยมีบุคคลระดับสูงภาครัฐประกอบด้วย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมในพิธีเปิดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2560 ด้วย

ภายหลังพิธีเปิดงานฯ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน “วันต่อต้านการค้ามนุษย์” ประจำปี 2560 และได้มาพบกับทุกๆ ท่าน ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และทั่วโลกต่างตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหาและได้ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องในวันนี้

ประเทศไทยได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันต่อต้านการค้ามนุษย์” เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้เกิดความตระหนักถึงภัยร้ายแรงของการค้ามนุษย์ และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ โดยปัญหาการค้ามนุษย์ในปัจจุบันมีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปรับเปลี่ยนวิธีการ และการแอบแฝงมาในรูปการทำธุรกิจการค้าหรือบริการต่างๆ ทำให้ต้องมีการออกมาตรการและกฎหมายที่เอาผิดผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และการช่วยเหลือผู้เสียหายจากคดีการค้ามนุษย์ และรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศให้ลดลงและค่อยๆ หมดสิ้นไปจากสังคมไทย โดยเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานการต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากการค้ามนุษย์และสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA ในการจัดระดับในรายงานประจำปีสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report 2017) หรือ TIP Report 2017 โดยรัฐบาลจะต้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค และข้อขัดข้องต่างๆ เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบายให้ “การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมทั้งได้เร่งรัดให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา ดังนี้

การออกกฎหมาย/แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายค้ามนุษย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามและลักษณะความผิดฐานค้ามนุษย์ให้มีความชัดเจนและเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ดำเนินการสืบสวน สอบสวนและยึดทรัพย์สินในคดีค้ามนุษย์มากที่สุดในรอบหลายปี เป็นจำนวนเงินถึง 784 ล้านบาท

การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดี ชั้นพนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพิ่มขึ้นจาก 317 ในปี 2558 เป็น 333 คดี ชั้นพนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง 310 คดี สั่งไม่ฟ้องเพียง 1 คดี และในชั้นศาลใช้ระยะเวลาพิพากษาลดลงอย่างต่อเนื่องจากทั้งหมด 330 คดี ใช้เวลาภายใน 3 เดือน 69 คดี (ร้อยละ 21) ภายใน 6 เดือน 169 คดี (ร้อยละ 49) ภายใน 1 ปี 295 คดี (ร้อยละ 90) และมากกว่า 1 ปี มีเพียง 35 คดี (ร้อยละ 10)

การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ในปี 2556 – ปัจจุบัน ได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 52 ราย ซึ่งหากประชาชนพบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรายใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถแจ้งเบาะแสไปที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และหากนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิด ก็จะได้รับเงินค่าตอบแทนตามฐานความผิดด้วย

การจัดสรรงบประมาณเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นลำดับต้นของประเทศ จำนวนมากถึง 3,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 23.88 ทั้งนี้ ร้อยละ 20 ได้จัดสรรให้สำหรับแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ได้ให้ความร่วมมือในการจัดระเบียบเรือและแรงงานบนเรือ เป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์

การพัฒนาระบบการคุ้มครองช่วยเหลือ โดยปรับปรุงบริการให้ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น 1) อนุญาตให้ผู้เสียหายอยู่และทำงานในไทยได้ 2 ปี หลังสิ้นสุดคดี เพิ่มประเภทงานให้ผู้เสียหายทำงานนอกสถานคุ้มครองได้ทุกประเภท โดยมีผู้เสียหายทำงานทั้งในและนอกสถานคุ้มครอง รวม 196 คน (จากเดิมปี 2558 จำนวน 47 คน) 2) ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่เหมาะสม วันละ 300 บาท เพื่อจูงใจให้ทำงานระหว่างการคุ้มครองและให้ความร่วมมือดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีข้อท้าทายจากการแก้ไขปัญหาและความคาดหวังจากสังคมที่ต้องการให้การค้ามนุษย์หมดสิ้นไปจากสังคมไทย ซึ่งต้องอาศัยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มข้น และพนักงานสอบสวนต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ทำความเข้าใจให้ตรงกัน โดยเฉพาะการตีความการค้ามนุษย์ในระหว่างการคัดแยกผู้เสียหาย รัฐบาลไม่เคยกำหนดให้มีคดีนโยบาย ไม่ได้มุ่งหวังที่ปริมาณคดี แต่ทุกหน่วยงานต้องดำเนินคดีเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้เสียหายและบุคคลกลุ่มเสี่ยง

ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกรายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง และลดระยะเวลาในการดำเนินคดีให้รวดเร็วขึ้น และขอให้กระทรวงยุติธรรม เร่งติดตามผลการดำเนินคดีทุกรายอย่างต่อเนื่อง

ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลของแต่ละหน่วยงานลงในระบบฐานข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้มีความเป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง รวมทั้งจัดให้มีกลไกรวมทั้งโครงสร้าง และบุคลากรเฉพาะทางรับผิดชอบ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบและการดำเนินการมีความยั่งยืน

ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หาทางเลือกเพิ่มเติมให้แก่ผู้เสียหาย เช่น การเปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนสามารถจัดตั้งสถานคุ้มครองผู้เสียหาย นอกเหนือจากของรัฐ และกำหนดแนวทางการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าจ้างค่าแรงค้างจ่าย หรือค่าตอบแทนอื่นให้แก่ผู้เสียหาย เป็นต้น โดยให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับประโยชน์มากขึ้น

ให้กระทรวงแรงงานพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองแรงงานทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ให้เข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับมากขึ้น รวดเร็วขึ้นและแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล จัดระเบียบบริษัทและนายหน้าจัดหางาน เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงาน

ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจตราสถานบริการไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี และที่แฝงมากับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกับเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี และต้องขอขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่รับเป็นเจ้าภาพผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ (Inflight VDO) เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ที่แฝงมากับการท่องเที่ยวตามสายการบินต่าง ๆ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รณรงค์สร้างการรับรู้เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ในรูปแบบขอทาน โดยให้ความคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขอทานให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และไม่กลับมาเป็นขอทานซ้ำอีก

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้โดยลำพัง แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หรือพลัง “ประชารัฐ” และความร่วมมือในระดับประเทศ ระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในกรอบสหประชาชาติ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่าน และทุกๆ ภาคส่วนที่สนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาอย่างเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและจะเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาและสามารถบังคับใช้กฎหมายในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ตรงประเด็น รวมทั้งนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลในการดำเนินการป้องปรามและป้องกันการค้ามนุษย์และช่วยเหลือให้ผู้ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์หลุดพ้นจากกระบวนการค้ามนุษย์ทั้งแรงงาน สตรี และเด็กให้กลับคืนสู่สังคม และเราจะร่วมมือกันด้วยความมุ่งมั่นเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือร่วมใจกันกับรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเข้มแข็งและจริงจังมาโดยตลอด และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงานและสื่อมวลชนที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี 2560 ทุกท่าน ที่ได้ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจและเสียสละ ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นกำลังใจในการมุ่งมั่นทำงานอย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นๆ ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็ว

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ