กสม.แถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ผู้ชุมนุมต้องไม่ยั่วยุ

ข่าวทั่วไป Thursday January 23, 2014 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์คัดค้านการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ และเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้ในทันที เนื่องจากสถานการณ์และองค์ประกอบในขณะนี้ยังไม่เข้าขั้นฉุกเฉินร้ายแรงเพียงพอ แต่ควรมุ่งเน้นบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป
"คณะกรรมการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ ด้วยความห่วงใยและวิตกกังวลในแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไปแล้วต่างกรรม ต่างวาระ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น"
พร้อมกันนั้น ยังเรียกร้องให้ผู้จัดการชุมนุมทุกกลุ่มทุกฝ่าย และผู้เข้าร่วมชุมนุม ต้องไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการยั่วยุ ปลุกเร้า อีกทั้งต้องระมัดระวังการดำเนินการใดๆ อันอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องชุมนุมให้เป็นไปโดยความสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธทุกชนิดในพื้นที่การชุมนุมโดยยึดแนวทางสันติวิธี หลักนิติธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ส่วนสื่อมวลชนทุกแขนงสมควรระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องตามความเป็นจริงภายในกรอบของกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวระบุอีกว่า การประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ในประการสำคัญยังละเลยและมองข้ามกลไกและระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารให้ใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และถูกต้องทำนองคลองธรรม นับตั้งแต่ปี 48 คณะกรรมการฯ ได้เคยมีข้อเสนอแนะท้วงติงการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา และในครั้งนี้แม้มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่ในประเด็นความฉุกเฉินและความจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเพิ่มขึ้นยังไม่ชัดเจน

การประกาศใช้ พ.ร.ก.นี้ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยไม่มีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นการละเลยและไม่ให้ความสำคัญต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเกี่ยวด้วยสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ การที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุม สั่งระงับยับยั้งการสื่อสารใดๆของสื่ออาจนำไปสู่การปิดกั้น และลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนได้ ทั้งยังเป็นการจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไปในขณะเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ