กรมชลฯ วางแผนทั้งระยะสั้น-ยาวรับมือปัญหาน้ำแล้งในภาคตะวันออก

ข่าวทั่วไป Friday August 29, 2014 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน วางแผนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกในช่วงฤดูแล้งนี้ หลังพบว่าแนวโน้มฝนภาคตะวันออกตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เป็นแหล่งท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม และการเกษตร ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล จึงทำให้มีสัดส่วนการใช้น้ำสูงมากตามไปด้วย ดังนั้น การจัดสรรน้ำเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปีจึงมีความสำคัญยิ่ง และจากการคาดการณ์สถานการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาจากปัจจุบันไปจนสิ้นฤดูฝน พบว่ามีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำฝนจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าปกติ หรือมีแนวโน้มฝนตกน้อย เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่มาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีแหล่งน้ำต้นทุนประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ ได้วางแนวทาง ในการบริหารจัดการน้ำ ในลักษณะของการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างอ่างเก็บน้ำและมีระบบส่งน้ำ เพื่อการท่องเที่ยว และการอุตสาหกรรม มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 18 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯในฤดูฝนอีกประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นจำนวนทั้งสิ้น 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้น้ำทุกภาคส่วนในช่วงฤดูฝน

ส่วนในช่วงฤดูแล้งหน้านี้ ได้จัดทำมาตรการลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว เมื่อสิ้นฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งรวมกันประมาณ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯในฤดูแล้งอีกประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระในเดือนพ.ย. 57 อีกประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำต้นทุนทั้งหมดไว้ใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งประมาณ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้น้ำในทุกภาคส่วนไม่ขาดแคลน

สำหรับในพื้นที่จังหวัดระยอง มีแหล่งน้ำประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ การบริหารจัดการน้ำจะมีลักษณะเหมือนกับจังหวัดชลบุรี ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างอ่างเก็บน้ำ และมีระบบส่งน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันกว่า 80 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯในช่วงฤดูฝนอีกประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้น้ำทุกภาคส่วนตลอดฤดูฝนไม่ขาดแคลน

ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง นั้น กรมชลประทาน ได้จัดทำมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำไว้ ดังนี้ มาตรการที่ 1 ดำเนินการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร มาตรการที่ 2 ดำเนินการสูบน้ำจากแม่น้ำระยองบริเวณเหนือฝายบ้านค่ายในช่วงฤดูน้ำหลาก ไปเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และ มาตรการที่ 3 ดำเนินการผันน้ำจากคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ประมาณ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร (กรณีอ่างเก็บน้ำประแสร์ มีน้ำไม่เต็มอ่างฯ)

จากมาตรการดังกล่าว เมื่อสิ้นฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในเขตจังหวัดระยอง รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 115 ล้านลูกบาศก์เมตร และเมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่คาดว่าจะไหลลงอ่างฯ ในฤดูแล้งอีกประมาณ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร กับการสูบผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ในช่วงฤดูแล้งอีกประมาณ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุนในฤดูแล้งรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 209 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้น้ำทุกภาคส่วนโดยไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วางแผนระยาวเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตของภาคตะวันออกหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มสูบน้ำได้ประมาณเดือน ต.ค.57 , โครงการเพิ่มความจุเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแผนดำเนินการในปี 58 , โครงการเพิ่มความจุเก็บกักของอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 45.27 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ,

โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองชลประทานพานทองเชื่อมต่อระหว่างระบบท่อผันน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 70 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมเช่นกัน ทั้งนี้ หากโครงการต่างๆที่กล่าวมา ดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับการใช้น้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายตัวทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ในเขตจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ