คมนาคม ดึง 3 หน่วยงานร่วมติดตั้งเครื่องกั้นถาวร-สัญญาณเตือนจุดตัดรถไฟ

ข่าวทั่วไป Friday October 31, 2014 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีจำนวน 2,517 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นจุดตัดที่เป็นทางผ่านที่ได้รับอนุญาต จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เกือบ 2,000 แห่ง และอีก 584 แห่งเป็นจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาต (ทางลักผ่าน) ซึ่งจะต้องเร่งแก้ปัญหา เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเส้นทางสายใต้ถึง 456 แห่ง รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือและสายเหนือ โดยตั้งเป้าหมายเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2558 จำนวน 1 ใน 3 ที่เหลือจะแล้วเสร็จในปี 2559

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเร่งสร้างเครื่องกั้นถาวรหรือติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนก่อนถึงจุดตัดรถไฟ เพื่อให้เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยเดียวกัน ซึ่งในการแจ้งเตือนผู้ขับรถให้รับทราบว่า ข้างหน้าจะมีจุดตัดกับรถไฟในระยะอย่างน้อย 30 เมตร และในอีก 15 เมตร จะเตือนด้วยลูกระนาด และอีก 5 เมตรก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟ จะมีสัญญาณไฟ หรือสัญญาณเสียงเตือนอีกครั้ง ซึ่งทำได้ทั้งแบบ Manual หรือแบบอัตโนมัติ หรืออาจจะเป็นการติดเซ็นเซอร์ก่อนที่รถไฟจะวิ่งถึงจุดตัด 1 กม. โดยใช้แรงสั่นสะเทือนกรณีที่มีรถไฟวิ่งมา จะส่งสัญญาณไปที่จุดตัดเพื่อส่งเป็นสัญญาณไฟ หรือเสียงเตือน เมื่อรถวิ่งผ่านไปแล้ว 200 เมตร สัญญาณเตือนจึงดับ เป็นต้น

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เมื่อมีการทำแผนร่วมกัน จะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และในอนาคตจุดตัดที่อนุญาตถูกต้องนั้น ได้มีแผนการติดตั้งระบบป้องกัน โดยร.ฟ.ท.ร่วมมือกับ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ติดตั้งแบบถาวร คือ สะพานข้ามหรือทางลอด กรณีปริมาณจราจรผ่านเกิน 1 แสนเที่ยวต่อวัน โดยต้องมีการวางแผนล่วงหน้า 1-2 ปี , การสร้างเครื่องกั้น แบบอัตโนมัติและManual , ปรับปรุงเครื่องกั้นเดิมเช่น เป็นแบบธรรมดาปรับเป็นอัตโนมัติ จากที่เป็นระบบอัตโนมัติแล้ว มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นจะยกเป็นสะพานข้ามหรือทางลอด ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีการวางแผนงบประมาณไว้ชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ