กรมชลฯ เร่งขุดลอกแก้มลิงรับน้ำภาคอีสาน ย้ำน้ำกินน้ำใช้มีเพียงพอตลอดฤดูแล้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday February 3, 2016 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมชลประทาน รายงานผลการดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการขุดลอกแก้มลิงในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม 9 แห่ง มุกดาหาร 8 แห่ง หนองคาย 6 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง และเลย 3 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้นรวมกันกว่า 12.77 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,680 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,030 ครัวเรือน

ในส่วนของผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด(ณ 1 ก.พ. 59) กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 69,760 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,118.54 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,262 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,467 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 47,031 คน

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(2 ก.พ. 59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,119 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกัน 7.85 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 59 รวมกันจำนวน 3,423 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย. 58 – 30 มิ.ย. 59)

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน (2 ก.พ. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,492 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ(แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การตามแผนได้ถึงเดือนเมษายน 59 ประมาณ 1,408 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี)

ทั้งนี้ ในส่วนการของเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,884,000 ไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มากกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล

พร้อมทั้ง ยังคงย้ำขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ