นายกฯ ยอมรับใต้น้ำท่วมหนักในรอบ 30 ปี ยันต้องเร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำลงสู่ทะเลที่เป็นทางออกเดียว

ข่าวทั่วไป Monday January 9, 2017 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ว่า ปัญหาน้ำท่วมใน 10 จังหวัดภาคใต้ปีนี้ถือว่าสถานการณ์รุนแรงมากกว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เพราะมีปริมาณฝนตกลงมามาก ทั้งนี้ปัญหาเกิดมาจากการปลูกสร้างสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำ รวมถึงการทำลายป่าไม้ ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำลงสู่ทะเล ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการจัดระเบียบและไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ภายหลังน้ำลดจะเร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด แต่ขอความร่วมมือประชาชนอย่าขัดขวางการทำงานของรัฐบาล เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งการระบายน้ำลงสู่ทะเลนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะภาคใต้มีพื้นที่ติดทะเล และการบริหารจัดน้ำจะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง แม้ขณะนี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่ตนยังคงมีกำลังใจ และกำลังกายเพื่อแก้ปัญหาในทุกเรื่อง

นายกรัฐมนตรี ยังขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องภาคใต้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้เปิดช่องทางในการรับความช่วยเหลือแล้ว แต่ในส่วนของ กทม. อยากให้บริจาคเป็นเงิน แล้วส่งต่อไปยังพื้นที่ภาคใต้มากกว่า เพราะหากบริจาคเป็นสิ่งของจะเป็นอุปสรรคในการขนส่ง และที่สำคัญในพื้นที่ก็มีการบริจาคสิ่งของอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้น รัฐบาลได้ประกาศยกระดับการแก้ปัญหาไว้ในระดับ 3 โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย บูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน มีอำนาจการตัดสินใจ และสั่งการเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อื่นเข้าไปช่วยในพื้นที่ภาคใต้ได้ทันที หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีไม่เพียงพอ

โดยมาตราการเยียวยาผู้ประสบภัยขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานปลัดสำนักนากยรัฐมนตรี และเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนหากต้องเยียวยาเพิ่มเติมครัวเรือนละ 5,000 บาท เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่านมาหรือไม่นั้น จะต้องมีการพิจารณา แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อตกลง 4 ประเทศในการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามมติร่วมของ 4 ประเทศ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ไม่ใช่ของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งหากจะอ้างเรื่องผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้น เห็นว่าปัญหาที่แท้จริง คือ ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำมีปริมาณลดลงอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ