กรมชลฯ สั่งพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวัง-ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หลังภาคเหนือตอนบนฝนตกหนักส่งผลระดับน้ำสูงขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday July 18, 2017 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ พร้อมกับเข้าไปบรรเทาทุกข์และลดความเดือดร้อนให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำสูงขึ้นตามปกติของฤดูกาล และมีน้ำท่วมเป็นบางแห่งตามวิถีประจำที่เคยเกิดขึ้นมาแต่ครั้งอดีต ซึ่งกรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศเมียนมา ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ในบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำยม บริเวณจ.แพร่ ค่อนข้างมาก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด (18 ก.ค. 60) ที่สถานีY.20 อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับได้สูงสุด 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่อ.เมืองแพร่ ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้(19 ก.ค. 60) ก่อนจะไหลลงสู่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ในช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค. 60 ตามลำดับ ซึ่งกรมชลประทาน จะใช้ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ บริหารจัดการน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเมืองสุโขทัย โดยที่ผ่านมาได้มีการเตรียมพร้อม ด้วยการลดระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ไว้รองรับน้ำที่จะมาจากทานตอนบน เมื่อน้ำมาถึงแล้วจะผันน้ำส่วนหนึ่งออกไปทางคลองยม-น่าน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกส่วนจะหน่วงไว้บริเวณเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ในอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจะผันน้ำเข้าคลองเล็กคลองน้อยอีกประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เหลือปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองสุโขทัยประมาณ 450 - 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในแม่น้ำยมบริเวณอ.สอง มีแนวโน้มลดลงแล้ว และยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด

ส่วนที่จ.น่าน ฝนที่ตกหนักส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน(18 ก.ค. 60) ที่สถานี N.1 เขตเทศบาลเมืองน่าน มีน้ำไหลผ่าน 966 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับได้สูงสุด 1,265 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด ส่งผลดีต่อเขื่อนสิริกิติ์ ที่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีปริมาณน้ำเก็กกักเพิ่มมากขึ้น

สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (18 ก.ค. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,287 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,291 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60) แนวโน้มลดลงเล็กน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังที่จะไหลมาสมทบมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มทรงตัว กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,287 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ยังคงมีน้ำท่วมที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกคั้นกั้นน้ำบางพื้นที่ ในเขตอ.เสนา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมชลประทาน ได้ทำการควบคุมปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำต่างๆ ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาน้ำท่วม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ