รัฐบาล เดินหน้าเร่งแก้ปัญหา IUU -ค้ามนุษย์ ตั้งเป้าหลุดพ้น Tier 2, ลุ้น ICAO ปลดล็อคธงแดงด้านการบิน

ข่าวทั่วไป Monday September 4, 2017 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิช โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ซึ่งภาพรวมมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะผลการเจรจาล่าสุดระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 3-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอียูเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการพยายามสร้างความเข้มแข็งและการบริหารจัดการ เพื่อแก้ปัญหา IUU โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น กฎหมายเรือไทย กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการกำหนดแผนควบคุมและติดตามเรือ เจ้าของเรือ และประวัติเรืออย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงอีก 16 ฉบับที่ต้องดำเนินการ โดยพล.อ.ประวิตรได้กำชับให้กรมประมงในฐานะหน่วยรับผิดชอบ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทุกมิติให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ยังได้รายงานการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งไทยยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับเทียร์ 2 วอชลิสต์ หรือ ประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยกำลังเร่งดำเนินการตามข้อแนะนำ 11 ข้อของสหรัฐฯ เช่นการปฏิรูปกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบบริษัทจัดหาแรงงงานต่างด้าว สร้างความส่วนร่วมของภาคประชาสังคม สร้างแรงจูงใจในการให้ข้อมูลการกระทำผิดเกี่ยวกับการกระทำผิด เพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการร้องทุกข์ และการพิสูจน์สัญชาติ เป็นต้น ซึ่งพล.อ.ประวิตร เน้นย้ำว่า ต้องดำเนินการให้หลุดจากเทียร์ 2 วอชลิสต์ ด้วยการดำเนินการที่ตอบโจทย์ 11 ข้อ โดยกระทรวงแรงงาน กรมประมง และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องแก้ปัญหาให้ต่อเนื่องและดำเนินการให้สำเร็จ

ด้านพ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้รายงานการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย โดยในส่วนของใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ขณะนี้ออกใบอนุญาตให้สายการบินแล้ว 9 สายการบิน อยู่ระหว่างตรวจสอบสถานีหลักภาคอากาศ 4 สายการบิน และอยู่ระหว่างตรวจเอกสาร 7 สายการบิน นอกจากนี้ได้ส่งจดหมายแจ้งไปยังสายการบินที่ไม่ผ่านการประเมิน 16 สายการบิน ให้เร่งเข้ารับการตรวจประเมิน เพราะหากไม่ได้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ก็ต้องงดการบินระหว่างประเทศ จนกว่าจะมีใบอนุญาต ซึ่งเริ่มมาตรการแล้วตั้งแต่ 1 กันยายน ทั้งนี้มาตรฐานความปลอดภัยทาง ICAO จะส่งบุคลากรมาตรวจสอบในปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคมนี้

ส่วนการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ทาง ICAO ได้ส่งตัวแทนเข้าตรวจสอบแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทั้งที่สำนักงานการบินพลเรือน สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผลการตรวจไม่พบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ จึงขอให้ไทยนำประสบการณ์และผลจากการตรวจประเมินไปพัฒนามาตรฐานต่อไป โดยจะมีการแจ้งความชัดเจนว่าไทยจะได้รับการปลดธงแดง ICAO หรือไม่ ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ย้ำให้เร่งดำเนินการ ไม่เพียงแต่ปลดธงแดงเท่านั้น แต่ต้องการให้อุตสาหกรรมการบินของไทยมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ