ครม.เบรกขึ้นค่าตอบแทน อบต. นายกฯสั่งหาเงินก้อนอื่น-เชื่อไม่มีม็อบต้าน

ข่าวการเมือง Tuesday December 14, 2010 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ออกไปก่อน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตว่าเงินที่จะนำมาปรับขึ้นค่าตอบแทนเป็นเงินที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หากนำมาใช้ปรับค่าตอบแทนผู้บริหารจะกระทบกับการพัฒนาท้องถิ่น

ดังนั้น เลขาธิการ ครม.จึงเสนอให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังไปหารือว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่จะไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่องบพัฒนาท้องถิ่นและนำเสนอ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงแนวทางของกระทรวงมหาดไทยที่นำเงินที่ได้รับจัดสรรจากส่วนกลางมาปรับค่าตอบแทนให้ อบต.เพราะเกรงจะกระทบกับการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ เพราะการตั้งวงเงินดังกล่าวไม่ได้คิดถึงการปรับค่าตอบแทน ให้ผู้บริหาร

"ที่เป็นห่วงในอบต.มีเงินสำหรับพัฒนาน้อยอยู่แล้ว ซึ่งดูจากรายได้เงินอุดหนุนหักค่าตอบแทน หักค่าใช่จ่ายประจำ และมีเงินพัฒนาน้อยอยู่แล้ว การเพิ่มค่าตอบแทนจะไปกระทบกับการพัฒนาหรือไม่ จึงมอบให้ทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทยหาข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ 3 หน่วยงานหากหารือแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับแก้หลักเกณฑ์ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือแต่ละ อบต.ได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เท่ากัน ส่วนจะนำไปสู่ความไม่พอใจหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจกับ อบต.แต่ละพื้นที่ และเชื่อว่าจะไม่เป็นการปลุก อบต.ให้ออกมาก่อม็อบต่อต้าน

ขณะที่รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอรายงานต่อครม.ถึงการเปรียบเทียบอัตราค่าตอบแทนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิก อบต.ต่ำกว่าเทศบาลมากประมาณ 200-300% กล่าวคือ นายกเทศมนตรีชั้นรายได้เกิน 300 ล้านบาท(สูงสุด) ได้รับค่าตอบแทนรวม 66,280 บาท ในขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ชั้นรายได้เกิน 50 ล้านบาท(สูงสุด) ได้รับค่าตอบแทนรวม 13,200 บาท

ส่วนนายกเทศมนตรีชั้นรายได้ เกิน 9-10 ล้านบาท(กลาง) ได้รับค่าตอบแทนรวม 22,500 บาท ในขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชั้นรายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท(ต่ำสุด) ได้รับค่าตอบแทนรวม 4,500 บาท

ดังนั้น การปรับค่าตอบแทนรายเดือนของผู้บริหาร อบต.เพิ่มขึ้น 100% เพื่อให้ค่าตอบแทนเท่ากับเทศบาลตำบลไม่มีช่องว่างห่างกันมากนัก ประกอบกับปัจจุบันมีการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางไปให้ อบต.เป็นจำนวนมาก ความรับผิดชอบของ อบต.จึงไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทนที่ได้รับ

ส่วนของสมาชิก อบต.ชั้นรายได้เกิน 50 ล้านบาท(สูงสุด) ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน 6,600 บาท ในขณะที่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ได้รับ 16,200 บาท สมาชิกสภาเมืองพัทยาได้รับ 16,200 บาท สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้รับ 41,000 บาท และสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานครได้รับ 10,070 บาท

เปรียบเทียบค่าตอบแทนของนายก อบต.กับนายก อบจ. นายกเมืองพัทยา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าค่าตอบแทนนายก อบต.ชั้นรายได้ 50 ล้านบาท(สูงสุด)ได้รับค่าตอบแทนรวม 13,200 บาท ในขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับ 66,280 บาท นายกเมืองพัทยาได้รับ 66,280 บาท ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รับ 104,330บาท

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้บริหารและสมาชิก อบต. จึงได้เรียกร้องให้ปรับปรุงค่าตอบแทน เพราะได้มีการปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2547 หลังจากนั้นไม่มีการปรับปรุงอีกเลย ในขณะที่ได้มีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนกำนั้นผู้ใหญ่บ้านขึ้น 100% ทั่วประเทศ เมื่อ พ.ศ.2552-2553 จึงสมควรปรับค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต.ซึ่งเป็นองค์กรในระดับตำบลเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ