นายกฯ กล่าวในเวที UN แนะสร้างความสมดุลการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวการเมือง Saturday September 26, 2015 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเสวนาในหัวข้อ Ending poverty and hunger ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ(UN)ระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ.2015 โดยระบุเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทั้งในประเทศและระดับโลกจะต้องสร้างความสมดุลและยั่งยืน โดยขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมในสังคมเป็นสำคัญ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีประชาคมโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดวาระการพัฒนาโดยเน้นการแก้ปัญหาอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งการขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่จะต้องเดินหน้าสานต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ(MDGs) ให้บรรลุผลภายใน 15 ปีข้างหน้า สำหรับประเทศไทยแม้สัดส่วนของคนจนจะลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือร้อยละ 10.53 ในปี 2557 จากร้อยละ 42 ในปี 2543 แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินและทรัพยากรของประเทศที่อยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้น

ดังนั้นรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในสังคม และการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของประเทศอย่างทัดเทียมกัน เพราะไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ต้องการให้สังคมไทยมีการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เบียดบังผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สร้างความแตกต่าง-แบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบ จนเกิดความอยุติธรรม และนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมไทยในขณะนี้

ในการบริหารประเทศช่วงแรก คือ การผลิกฟื้นสันติสุข สร้างความสามัคคี และแก้ปัญหาเร่งด่วนทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันไทยกำลังเดินหน้าวางรากฐานการพัฒนาและวางแผนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างครบวงจร ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ และเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ตามวิสัยทัศน์ของประเทศ 2015-2020 "ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ประชาคมยั่งยืน" รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการสร้างกรอบ กติกา ที่เอื้อให้คนทุกคนในสังคมได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะด้านการศึกษา บริการทางการแพทย์ และทางสังคม ตลอดจนต้องได้รับการคุ้มครองโดยกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาของประเทศของไทยได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง บนหลักของ "ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน" เพื่อเอาชนะความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจของคนในชาติในทุกระดับ ให้มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน และรอบคอบ สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ด้วยการสร้างงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นวัตถุนิยม – บริโภคนิยม ด้วยการสร้างรายได้ ที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม-ส่วนรวม ให้ความสำคัญกับการหล่อหลอมจิตวิญญาณ ปลูกฝังให้คนมีความสมดุล ระหว่างการผลิตกับการบริโภค มีจิตสำนึกที่เอื้ออาทร และอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

หลักการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็คือ การรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถยกระดับการพัฒนามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ ก็ด้วยการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลได้ดำเนินการ 1.ส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี 2.ส่งเสริมตลาดชุมชน-ลดกลไกพ่อค้าคนกลาง-สร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) 3.พัฒนาศักยภาพ SMEs เชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่ แบบ “พี่สอนน้อง" แล้วเชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก รวมทั้ง 4.การสร้างกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ-ที่ดิน-ป่าไม้ ของประเทศอย่างบูรณาการและยั่งยืน ไม่เสียดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ ต้องเริ่มจากการเสริมสร้างขีดความสามารถของ “ชุมชน" นับตั้งแต่ การส่งเสริมสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและ OTOP (One Tambon One Product) การส่งเสริมโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ กองทุนหมู่บ้าน-ตำบล และสินเชื่อ “นาโนไฟแนนซ์" การพัฒนาองค์ความรู้ให้ชุมชนเกษตรกรรม ด้วย “ศูนย์เรียนรู้" ประจำอำเภอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

นอกจากนี้ การบริการจัดการด้านแรงงาน ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดย “ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center)" ทั่วประเทศ ทำให้อัตราส่วนการมีงานทำของไทย สูงถึงร้อยละ 98.7 รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่ออนาคตและเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น อาทิ การลงทุนระบบโครงสร้างการคมนาคมพื้นฐาน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ สร้างความเชื่อมโยง โดยการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศ และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนา สามารถขจัดความยากจนได้เร็วขึ้น เพราะการพัฒนาจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อทุกคน ทุกประเทศ ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ไม่มีคนใดหรือประเทศใดถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง ความยากจน ความหิวโหย และความเหลื่อมล้ำถูกขจัดหมดไป มีการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความพอดี ทั้งในการผลิตและบริโภค เพื่อให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของโลกใบนี้ ยั่งยืนสำหรับชนรุ่นหลังต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ