สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ห้ามรณรงค์รับ-ไม่รับร่าง รธน.

ข่าวการเมือง Thursday April 7, 2016 18:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติ 171 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ในระหว่างการอภิปราย นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.อภิปรายท้วงติงการแก้ไขเนื้อหาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญ ในมาตรา 7 ที่เดิมระบุว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" แต่ กมธ.วิสามัญได้ตัดคำว่า "รณรงค์" ออกไป ทำให้สมาชิก สนช.หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน เนื่องจากไม่สามารถแสดงความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ ทั้งที่เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงอยากให้คณะกมธ.ทบทวนในประเด็นนี้

"การให้มีคำว่ารณรงค์น่าจะมีประโยชน์มากกว่าหรือไม่ เพราะจะเป็นการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน"นายตวง กล่าว

ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว ยืนยันการตัดคำว่ารณรงค์ เนื่องจาก กมธ.ไม่ต้องการให้การทำประชามติในครั้งนี้เป็นประเด็นในทางการเมือง และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความขัดแย้ง โดยผู้ที่จะทำการรณรงค์ได้จะมีเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เท่านั้น กกต.ต้องออกไปรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงมาใช้สิทธิให้มากที่สุด ฝ่ายอื่นไม่สามารถทำได้แม้แต่คณะกรรมการการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

"มองว่าการรณรงค์นั้นหมายถึงการร่วมกันชักจูงกันออกมาที่จะไปดำเนินการว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เราจึงคิดว่าการรณรงค์นั้นมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่ง" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ในที่สุดที่ประชุม สนช.มีมติ 181 เสียงเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว

นอกจากนี้ คณะกมธ.ยังได้ปรับแก้ถ้อยคำในมาตรา 9/1 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของ กรธ.ในการเผยแพร่และทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และอำนาจหน้าที่ของ สนช.ในการชี้แจงคำถามประชามติที่ สนช.ตั้งเพิ่มเติมด้วย โดยให้แก้ไขเป็น "ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงเพิ่มเติม ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาระสำคัญของประเด็นให้แก่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป" ซึ่งที่ประชุมมีมติ 184 เสียงเห็นชอบเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ