ทีดีอาร์ไอห่วงวิกฤตการเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจ แนะนายกฯเลิกหว่านประชานิยม

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday January 8, 2012 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาของไทย เป็นแค่ผลกระทบชั่วคราวไม่ใช่ลากยาวเหมือนกับของต่างประเทศ โดยภัยธรรมชาติของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด ทรัพย์สินเสียหายมโหฬาร แต่น้ำท่วมของไทยมันค่อยๆ มา แต่ทรัพย์สินเสียหายไม่มาก ทำให้ไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว

ที่สำคัญทุกครั้งที่เกิดวิกฤต แม้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี)ลดลง แต่หลังจากนั้นเราจะฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ตัวเลขจีดีพีจะพุ่งขึ้นในทันที เพราะมาจากฐานจีดีพีที่ต่ำในช่วงเกิดวิกฤต ซึ่งในภาวะปกติตัวเลขเศรษฐกิจเราประมาณ 4-5% แต่ปีที่แล้วน่าจะตกมาเหลือ 1-2% เศษๆ ตัวเลขต่ำมาก ทำให้ปีนี้จะพุ่งขึ้นไปแล้ว 6-7% จึงไม่ใช่เรื่องแปลก บวกกับงบลงทุนของภาครัฐที่ใช้อย่างจริงจังและได้ผล ในโครงการฟื้นฟูต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางบวกได้ ส่วนภาคเอกชนลงทุนในกิจการของเขาอยู่แล้ว เพื่อฟื้นฟูและบูรณะความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งงบ 2 ก้อนนี้ บวกกับประชาชนที่ต้องซ่อมบ้าน ซ่อมแซมของใช้ต่างๆ ช่างก่อสร้าง ช่างเฟอร์นิเจอร์ขายดี ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าห่วงมากกว่าคือวิกฤตเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (อียู) แต่ยังมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าข้อตกลงเรื่องวินัยทางการคลังของอียูสามารถตกลงกันได้ ความเสี่ยงน่าจะลดลง ส่วนเรื่องที่น่าห่วงอีกเรื่องคือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ถือเป็นปัจจัยที่เสี่ยงมากที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องก็เป็นเรื่อง มีเรื่องเกิดขึ้นอยู่ตลอดและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่าไม่ค่อยดี

ส่วนนโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะจีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2554 และไตรมาส 1 ปี 2555 จะลดลง รายได้ของรัฐบาลจะหดหายไปเยอะ แต่รัฐบาลมีภาระรายจ่ายค่อนข้างเยอะมาก ในการซ่อมแซมผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ถ้ารัฐบาลเลิกนโยบายประชานิยม อาทิ บ้านหลังแรก รถคันแรก ประชาชนจะเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้เบี้ยว ในภาวะอย่างนี้ต้องกระเหม็ดกระแหม่ จำเป็นต้องใช้เงินช่วยประชาชนในสิ่งที่เดือดร้อนที่สุด ถ้ารัฐบาลกล้าทำอย่างนี้ ประชาชนจะชื่นชมมากกว่าการที่ทำอะไรต่อไปแล้วเงินไม่พอ จะเกิดวิกฤตทางด้านการคลังมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ