(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เชื่อศก.ปี 55 โตได้ 7% จากบริโภค-ส่งออก-ลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2012 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะเติบโตได้ถึง 7% จากกลไกหลัก ได้แก่ การบริโภค การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุน โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ในช่วงไตรมาส 1/55 เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงบ้างจากผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นปลายปีก่อน แต่ในไตรมาส 2/55 เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ

นายกิตติรัตน์ กล่าวในการสัมมนา"ทิศทางและโอกาสเศรษฐกิจในปี 55" โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 7% แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าจะขยายตัวราว 5-5.5% โดยมองว่าหากรัฐบาลตั้งใจทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต มีการกระจายความสุข กระจายรายได้ ก็จะทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ มองลักษณะเศรษฐกิจเป็นโอกาสการเติบโต เนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งในระยะสั้นจะมีการจัดเตรียมระบบจัดการน้ำด้วยการผันเข้าพื้นที่เกษตรเพื่อสร้างความเสียหายให้น้อยที่สุดหากเกิดน้ำท่วม ส่วนการจัดการระยะยาว จะต้องสร้างเขื่อนใหม่ จึงสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่กลัวว่าจะถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ

สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มาจาก 4 กลไกหลัก คือ การอุปโภคบริโภคที่ดีขึ้น เนื่องจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการใช้จ่ายมากขึ้น และจะไม่มีการเก็งกำไรจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนั้น ยังมีการใช้จ่ายภาครัฐจากการวางงบประมาณขาดดุล 4 แสนล้านบาท ส่วนการส่งออกคาดหวังว่าจะขยายตัวในระดับที่ใช้ได้ ภายใต้ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะยังมีการลงทุนต่อเนื่องในปี 55 และ 56

"หวังว่าเศรษฐกิจในปี 55 และ 56 จะขยายตัวได้ดีและเข้มแข็ง ภายใต้การเมืองที่ดีและมีเสถียรภาพด้วย"นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ มองว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 1/55 จะขยายตัวแบบชชะลอตัวเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากน้ำท่วม โรงานต่าง ๆ เพิ่งเริ่มทยอยกลับมาเปิดเดินเครื่องการผลิต ขณะที่ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารฮอนด้าว่าจะเริ่มสายการผลิตได้ในเดือนมี.ค.นี้ จากนั้นในไตรมาส 2/55 สถานการณ์จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจะเป็นช่วงที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศ

นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าภายใต้โมเมนตัมทางเศรษฐกิจจะทำให้การที่รัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายภายใต้การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23% จาก 30% รวมถึงการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ในปี 56 ซึ่งจะทำไปสู่การแข่งขันของประเทศภายใต้มาตรฐานภาษีและมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำ แม้ว่ารัฐบาลต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท แต่เชื่อว่าการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล โดยในปีงบประมาณ 56 รัฐบาลจะยังคงนโยบายขาดดุลงบประมาณ แต่จะขาดดุลน้อยลงกว่าปีงบประมาณ 55 ที่ขาดดุลงบประมาณ 4 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ