ภาคธุรกิจยอมรับการเมืองยืดเยื้อพ่นพิษ คาดประคองตัวได้ไม่เกิน 4.6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 6, 2014 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานการณ์เศษฐกิจและธุรกิจไทยต่อการชุมนุม พบว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่ 26.4% ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และการชุมนุมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก รองลงมา 22.9% ระบุว่า กระทบปานกลาง และอีก 14.5% ระบุว่า กระทบมากที่สุด ขณะที่ 17.1% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าเรื่องภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กำไรลดลง รองลงมาคือ ยอดขายลดลง และสภาพคล่องลดลง

สำหรับระยะเวลาที่ภาคธุรกิจคิดว่าจะสามารถประคองธุรกิจไปได้ หากสถานการณ์ชุมนุมยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ นั้น พบว่า โดยเฉลี่ยคาดว่าจะสามารถประคองธุรกิจได้นาน 4.6 เดือน โดยหากแยกเป็นประเภทธุรกิจ จะพบว่าภาคเกษตร ประคองได้ 4.4 เดือน, ภาคการค้า 4.5 เดือน, ภาคท่องเที่ยว-โรงแรม 4.5 เดือน และภาคอุตสาหกรรม 5.1 เดือน แต่หากแยกเป็นขนาดของธุรกิจ จะพบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก ประคองได้ 4.3 เดือน, ธุรกิจขนาดกลาง 4.9 เดือน และธุรกิจขนาดใหญ่ 5.1 เดือน

โดยปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจใน 3 อันดับแรก คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง อันดับสอง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และอันดับสาม ความเชื่อมั่นของต่างประเทศ พร้อมมองว่ารัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องควรช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs ในเรื่องของ 1.การลดต้นทุนการผลิต ดอกเบี้ย และหาตลาดให้กับ SMEs 2.หาเงินทุนในการสนับสนุน SMEs 3.กระตุ้นเศรษฐกิจให้คนมีรายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังได้เสนอแนะแนวทางเพื่อให้เกิดความสามัคคีและความสงบสุขในประเทศด้วยการ 1.หารือร่วมกันและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว 2.ต้องรักษากฎหมาย ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก 3.แก้ปัญหาคอรัปชั่นให้หมดไป

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากภาคธุรกิจจำนวน 707 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.-3 ก.พ.57

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างเริ่มมองว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว และเป็นปัจจัยที่สำคัญควบคู่ไปกับเรื่องยอดขายลดลง, ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น, กำไรลดลง และสภาพคล่องที่มีปัญหา

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังไม่มีปัญหาในเรื่องการก่อหนี้เพิ่มขึ้น และยังไม่ปลดคนงาน แต่ในอนาคตอาจจะมีปัญหาต่อการจ้างแรงงานใหม่ที่เริ่มเข้ามาในระบบ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งอาจจะได้งานช้า และอัตราการว่างงานในประเทศอาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจาก 0.7% ในปัจจุบันไปเป็น 1.0%

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากปัญหาการเมืองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจคิดเป็นเม็ดเงินราว 1.5-2 แสนล้านบาท และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะเติบโตได้น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ 4-5% มาเหลือที่ระดับไม่ถึง 3% เนื่องจากการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ย่อตัวลง 1-1.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ