(เพิ่มเติม) ธปท.เผยการปรับลดดอกเบี้ยของกนง.ส่งผ่านไปยังแบงก์เร็วหวังช่วยกระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 14, 2014 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงผลตอบรับจากตลาดการเงินหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งที่ออกมาตอบรับการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ถือว่าเป็นการส่งผ่านนโยบายที่เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ภาพรวมการลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นปัจจัยสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด
"การลดดอกเบี้ยของกนง.ไม่ผิดความคาดหมายของตลาด โดยเฉพาะผลที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้นยังเป็นปกติ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวมีเสถียรภาพต่อเนื่อง ตลาดพันธบัตรระยะสั้น ไม่ปรับตัวแตกต่างจากที่คาดไว้ ตลาดหุ้นยังอยู่ในภาวะปกติ" นางรุ่ง กล่าว

โฆษก ธปท.กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องการภาวะสนับสนุนจากนโยบายการเงินแต่มากหรือน้อยยังไม่ชัดเจน ซึ่งนโยบายการเงินขณะนี้เห็นว่าควรอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพื่อช่วยประคองภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคค่อนข้างต่ำ จึงคาดหวังว่านโยการเงินในระดับผ่อนปรนจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แม้ว่าอาจจะโตไม่มากแต่ก็ช่วยประคองภาวะการชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินยังมีช่องว่างในการใช้ดูแลเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง โดยในอดีตดอกเบี้ยนโยบายเคยปรับลดลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 1.25%

"แม้เงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดเดือนก.พ.ที่ผ่านมา จะเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ 1.22% เนื่องจากราคา LPG และราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น แต่การส่งผ่านราคาไปยังสินค้าหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารยังมีไม่มาก ประกอบกับยังไม่มีแรงกดดันจากความต้องการของผู้บริโภคสูง ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้จึงไม่มีความกังวลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น" โฆษก ธปท. กล่าว

ในส่วนของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยภาพรวมยังชะลอตัวทั้งในแง่ของการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมทั้งธนาคารยังคงมีความเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ตามภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงบ้างในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังไม่เห็นสัญญาณที่เป็นอันตราย ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวกลุ่มลูกค้าที่มีสายป่านสั้น เช่น กลุ่มเอสเอ็มอีจะมีผลกระทบก่อนและมากที่สุด รองลงมาคือภาคครัวเรือนที่ก่อนหน้านี้มีภาระหนี้ในครัวเรือนสูง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้น้อยลง แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนกับปี 40

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีความกังวลว่าราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จะปรับลดลง หลังศาลรัฐธรรมนูฐมีคำวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดต่อกฎหมายนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าเกี่ยวข้องกัน เพราะในระยะยาวประเทศไทยยังจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องโดยเฉพาะการกระจายความเจริญออกไปในต่างจังหวัด เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนั้นการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงไม่มีนัยสำคัญ

โฆษก ธปท. กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ