นักวิชาการหวังมีรัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีแรก หากช้าศก.ไทยมีโอกาสทรุดหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 8, 2014 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบวิกฤติการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย" ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภาว่า หากปัญหาการเมืองไทยยังยืดเยื้อไปถึงครึ่งปีหลังและยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น จะเพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมถึงยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคการลงทุนและธุรกิจด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงอย่างหนัก แต่หากทุกฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อหาข้อสรุปและยุติความขัดแย้งได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
"การเมืองถ้าลากยาวเกินไปก็จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจน่าเป็นห่วง ดังนั้นต้องมาติดตามดูว่าข้อยุติทางการเมืองจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน เรื่องนี้คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนพิจารณา แต่เชื่อว่าหากทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน น่าจะช่วยทำให้ภาพทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และอีกปัจจัยที่น่าจะทำให้เกิดข้อยุติ นั่นคือในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ กระบวนการยุติธรรมจะมีการตัดสินคดีสำคัญๆ ทางการเมือง คงจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา" นายธีระชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือการมีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาที่เดือดร้อนอยางหนักในตอนนี้ และต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในต่างจังหวัด อาทิ การลงทุนด้านน้ำ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งในภาคเกษตรด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทั้งจากภายนอกและภายใน จากนโยบายที่รัฐบาลใช้บริหารประเทศ โดยเน้นการกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้น ผ่านการอุปโภคบริโภค แม้จะทำให้ GDP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี แต่ก็ไม่ใช่การกระตุ้นแท้จริงในระยะยาว แต่กลับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 82% ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากไต้หวัน และมาเลเซีย

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เชื่อว่า ภายในครึ่งแรกของปีนี้จะยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เนื่องจากปัญหาทุกอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องดูว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะหากยังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ เศรษฐกิจไทยก็จะสาหัส เพราะไม่สามารถจัดทำและเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ได้ โดยเฉพาะงบลงทุนใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

"รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกฝ่ายด้วย ไม่ใช่ว่าสักแต่จะตั้งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และเมื่อเข้ามาแล้วต้องตั้งใจทำหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย" นายธวัชชัย กล่าว

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะได้รับแรงกดดันจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่จากเดิมคาดว่าจะมีเม็ดเงินจาก 2 โครงการนี้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ราว 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลทำให้ยอดนักท่องเที่ยวในปีนี้ลดลงจากเป้าหมายราว 5 แสนราย หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 2.5-3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2558 ทำให้ต้องใช้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำเดิมไปพลางก่อน ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการใช้งบประมาณในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 (ต.ค.-ธ.ค.57) ให้ต่ำกว่าปกติถึง 1 แสนล้านบาท รวมถึงแรงกดดันจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนให้ปรับตัวลดลงเพิ่มขึ้นด้วย

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สงบลงโดยเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวช่วง 5-10 ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เพราะทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการบริหารเชิงนโยบาย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ มีความล่าช้า ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้

อย่างไรก็ดี ในปีนี้คาดว่าการเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงสูง ทำให้คาดว่าปีนี้ GDP เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.9% และเวียดนาม 5.5%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ