(เพิ่มเติม) เงินบาทเปิด 32.20/22 แนวโน้มแข็งค่า นลท.ทยอยขายดอลล์ต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 17, 2014 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.20/22 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.26/27 บาท/ดอลลาร์

แนวโน้มวันนี้เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าต่อ เพราะยังมีแรงขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง จากทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ

"ต่างชาติขายดอลลาร์ต่อเนื่อง เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากกว่า เพราะตลาดมองว่าเฟดยังคงไม่น่าจะปรับลดมาตรการ QE เร็วอย่างที่คาด และเรื่องดอกเบี้ยก็น่าจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ที่ 32.20-32.30 บาท/ดอลลาร์

ล่าสุด SPOT อยู่ที่ระดับ 32.2125 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 3M(16 เม.ย.) อยู่ที่ 1.90348% และ THAI BAHT FIX 6M (16 เม.ย.) อยู่ที่ 1.96328%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.05/08 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ 102.32 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.3837/3840 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ 1.3841 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 32.2860 บาท/ดอลลาร์
  • นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินการตามข้อเสนอข้อเรียกร้องของชาวนาที่ต้องการให้นำงบกลางมาจ่ายหนี้จำนำข้าว 4 หมื่นล้านบาทเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าทำได้หรือไม่ หากรัฐบาลทำก็ต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติ เหมือนการยืมงบกลาง 2 หมื่นล้านบาทมาจ่ายหนี้จำนำข้าวให้กับชาวนา ซึ่งได้มีการจ่ายเงินไปหมดแล้ว
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในขณะนี้ครัวเรือนที่มีหนี้สิน และเริ่มมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไปนั้น ยังคงเป็นครัวเรือนที่มีรายได้ในระดับ 15,000 บาทต่อเดือนลงมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อรายได้ของครัวเรือนได้ โดยในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นเป็น 82.4% เพิ่มขึ้นจากประมาณ 80% ในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมา แต่ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ ธปท.กำลังติดตามอยู่
  • หอการค้าไทย ประเมิน "ส่งออก-ท่องเที่ยว" ทิศทางดีและยังไม่ติดลบ แต่ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าหมาย เหตุปัจจัยการเมืองกดดัน ส่งผล"การลงทุน-การใช้จ่าย" ชะลอ หวั่นเป็นสัญญาณอันตรายกดจีดีพีทั้งปีโตต่ำกว่า 1% "กสิกร"มองการเมืองส่งผลแรงต่อเศรษฐกิจไทยใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอย หวังครึ่งปีหลังหวังพึ่งการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจต่างประเทศฟื้น แต่ต้องระวังเงินเฟ้อเพิ่ม
  • ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นลงแตกต่างกันเมื่อเทียบสกุลเงินหลักเมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) ท่ามกลางการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐและความคิดเห็นจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
  • สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้นออกมาในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% มาอยู่ที่ 946,000 ยูนิตในเดือนมี.ค. ขณะที่การอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการก่อสร้างในอนาคต ปรับตัวลดลง 2.4% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. สู่ระดับ 990,000 ยูนิต
  • ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ โดยดัชนี MSCI Asia Pacific เพิ่มขึ้น 0.3% สู่ระดับ 138.44 จุด เมื่อเวลา 09.30 น.ตามเวลาโตเกียว ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสจากสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดการผลิตของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ขยายตัว 0.7% ในเดือนมี.ค. ส่งสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากเผชิญสภาพอากาศที่หนาวเย็นรุนแรง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 0.4% แตะ 79.2% ในเดือนมี.ค.

ตัวเลขทั้ง 2 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวเพียง 0.4% ในเดือนมี.ค. ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตคาดว่าจะอยู่ที่ 78.7% นอกจากนั้นตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เฟดมีพันธสัญญาต่อเนื่องที่จะหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.44 หรือในรอบกว่า 13 ปี โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 1 เซนต์ ปิดที่ 103.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 24 เซนต์ ปิดที่ 109.60 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา หลังจาก EIA รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย.พุ่งขึ้น 10 ล้านบาร์เรล แตะ 394.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ