คมนาคมเตรียมชง คสช.ขอเพิ่มงบก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอีก 8 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 26, 2014 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขอเพิ่มงบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อีกกว่า 8 พันล้านบาท หลังปรับแบบสถานีกลางบางซื่อเพื่อรองรับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ซึ่งเป็นการทำงานเผื่อไว้ล่วงหน้าที่มีค่าก่อสร้างถูกและปลอดภัยกว่าทำเพิ่มเติมในภายหลัง

"ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ประชุมเพื่อสรุปการปรับกรอบวงเงินโดยจะปรับกรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 8,140 ล้านบาท โดยสัปดาห์หน้าจะเสนอไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาได้" นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าว

ทั้งนี้ มีการปรับแบบก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อของโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพื่อรองรับระบบรถไฟฟ้าในอนาคต ทำให้กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 8,140 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและอาคารซ่อมบำรุง วงเงิน 29,826 ล้านบาท ขอเพิ่มอีก 4,315 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ - รังสิต ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงิน 21,235 ล้านบาท เพิ่ม 3,352 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มูลค่า 28,899 ล้านบาท เพิ่มอีก 473 ล้านบาท

สถานีจะเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่ชานชาลา ห้องออกตั๋วโดยสาร ชั้น 2 เป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับรถไฟชานเมืองและรถไฟสายไกล (รถไฟในปัจจุบัน) ซึ่งมีขนาดราง 1 เมตร โดยปรับทางวิ่งจากเดิมมี 3 ทางวิ่ง (ทางวิ่งตรงกลาง 1 ทางวิ่งเป็นรถไฟชานเมือง และด้านข้าง 2 ทาง สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง) เป็น 4 ทางวิ่ง โดยเพิ่มอีก 1 ทางวิ่งตรงกลางสำหรับรถไฟชานเมืองและทางไกล เพื่อไม่ต้องรอหลีก และเพิ่มความยาวสถานีจาก 200 เมตรเป็น 600 เมตร เพื่อรองรับขบวนรถได้ยาวมากขึ้น

และชั้น 3 เป็นพื้นที่สำหรับให้บริการรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และเตรียมรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีรางขนาด 1.435 เมตร โดยแผนจะแล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งจะทำให้ตั้งแต่สถานีรังสิต-สถานีบางซื่อ รถไฟจะวิ่งยกระดับทั้งหมด ไม่มีปัญหาจุดตัดกับถนนและแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯได้

"เมื่อปรับให้มีเพิ่มอีก 1 ทางวิ่งในส่วนของสัญญา 1 ทำให้การวางรางที่อยู่ในสัญญาที่ 2 ต้องเพิ่มไปดัวยและเพิ่มงานสัญญา 3 ที่เป็นระบบอาณัติสัญญาณควรคุมการเดินรถไปด้วยเช่นกัน การเพิ่มทางวิ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าอนาคตจะมีรถไฟฟ้าเพิ่ม แล้วไม่ทำเผื่อไว้ตั้งแต่ตอนนี้ การก่อสร้างจะยากมาก เพราะจะกระทบกับความปลอดภัยของเส้นทางที่ให้บริการอยู่ที่สำคัญค่าก่อสร้างจะแพงมาก" นายจุฬา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้งานก่อสร้างในส่วนของสัญญา 1 นั้นถือว่าล่าช้าแล้ว โดยผู้รับเหมาต้องปรับแผนไปก่อสร้างงานในส่วนอื่นที่ไม่มีปัญหาก่อน ซึ่งเรื่องสถานีกลางบางซื่อนั้น มีการเสนอปรับแบบและกรอบวงเงินมาตั้งแต่ปลายปี 2556 แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ยังมั่นใจว่า หากได้ข้อสรุปเรื่องการปรับแบบในเร็วๆนี้ ระยะเวลาที่เหลือจะสามารถเร่งรัดการก่อสร้างได้ทันตามกำหนด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ