TMB แนะผู้ส่งออกไทยเร่งปรับตัว-หาตลาดใหม่ ลดความเสี่ยง หลังยุโรปตัดสิทธิ GSP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 10, 2014 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุว่า สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือเรียกสั้นๆ ว่า GSP) ที่ยุโรปให้กับไทยนั้นได้สิ้นสุดลงในปี 2557 สำหรับสินค้าส่งออกไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5% ของมูลค่าการนำเข้ารวมจากประเทศผู้ได้รับสิทธิ GSP และทุกสินค้าจะถูกตัดสิทธดังกล่าวทั้งหมดในปี 2558 จากการที่ไทยถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-Middle Income Countries) เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ทำให้ไทยต้องเสียภาษีในอัตราปกติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (Most-Favored Nation: MFN)

จากการประเมินผลกระทบภาพรวมต่อผู้ส่งออกไทยถูก EU ตัดสิทธิ GSP แม้จะสัดส่วนน้อย แต่กระจุกตัวในบางกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผักผลไม้ และอาหารทะเลแปรรูป แนะผู้ประกอบการต้องเร่งหาคู่ค้าในตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับผลกระทบภาพรวมต่อผู้ส่งออกไทยถูก EU ตัดสิทธิ GSP นั้น ศูนย์วิจัยฯ ประเมินออกเป็น 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ผลกระทบแรก คือ ด้านภาษีการนำเข้า จากการที่ถูกตัดสิทธิ GSP ในปี 2557-2558 จะทำให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับราว 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบร้อยละ 3.2 ของมูลค่าการส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด (แต่คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกรวมไปยังทุกประเทศคู่ค้าของไทย) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผักผลไม้ อาหารทะเลแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม ซึ่งในปีนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เนื่องจากธุรกิจ SME มีหลายหมวดสินค้าที่ส่วนแบ่งการตลาดไม่เกินกว่าระดับที่ EU กำหนดไว้ แต่สำหรับในปี 2558 ทาง SME จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น จากสิทธิ์ GSP ในสินค้าทุกรายการจะถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด

ผลกระทบต่อมา คือ ด้านคู่แข่ง กลุ่มประเทศ EU มีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทยมากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งส่งออกของไทย ยังรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ได้ โดยคู่แข่งด้านการค้าหลักของไทยในตลาด EU ที่ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ในปัจจุบัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และ 2) กลุ่มประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว แต่ยังได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีจากข้อตกลง FTA กับ EU ได้แก่ มาเลเซีย บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ซึ่งทำให้ทั้งกลุ่มประเทศคู่แข่งเหล่านี้ ได้เปรียบไทยจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงนับว่าเป็นคู่แข่งด้านส่งออกที่สำคัญของไทย ซึ่งจะทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาด EU ลดลง

สำหรับผลกระทบส่วนที่สาม คือ ด้านนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต การที่ไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่ได้ยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่ หรือ ย้ายไปยังกลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลง FTA กับ EU ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ลดลงได้

"ผลกระทบทั้ง 3 ด้านดังกล่าว เป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ที่จะถูกกระทบมากขึ้นในปี 2558 และเหลือเวลาปรับตัวอีกไม่ถึง 6 เดือนเท่านั้น และแนะให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เพื่อลดต้นทุนค่าแรงและใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยัง EU และภาครัฐควรเร่งออกนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่มีความประสงค์จะไปลงทุนในต่างประเทศด้วย" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ