AREA คาดตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังพลิกฟื้นมาโตกว่า 10% จากครึ่งแรกวูบกว่า 30%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 22, 2014 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเขนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยถึงทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งปีหลังของปี 57 ว่า AREA คาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีหลังนี้น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากครึ่งปีแรกหดตัวมากกว่า 30% โดยมองแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่จำนวน 212 โครงการ เนื่องจากมีปัญหาทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรงจนเกิดรัฐประหาร

แต่สำหรับครึ่งปีหลังสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่ก็หวังว่าการต่อต้านจากประเทศตะวันตกคงจะไม่มีผลต่ออุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปี 57 ตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะหดตัวลงราว 24% หรือมีจำนวนหน่วยที่เสนอขายประมาณ 99,632 หน่วย เมื่อเทียบกับปี 56 ที่มีจำนวนหน่วยเสนอขาย 131,645 หน่วย และมูลค่าโครงการที่คาดว่าจะหดตัวลงราว 28% หรือมีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 276,127 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 385,447 ล้านบาท

"ครึ่งปีหลังนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะขยายตัวได้ 10% จากปัจจัยในเรื่องของความสงบของบ้านเรา ทำให้กำลังซื้อกลับมามากขึ้น และตลาดอสังหาฯของเราถือว่าถึงจุดต่ำสุดแล้ว น่าจะเติบโตต่อไปได้ แต่เมื่อมองภาพทั้งปีน่าจะติดลบอยู่หรือราว 24% แม้จะมีการขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังจากสถานการณ์ต่างๆเริ่มดีขึ้นและเชื่อว่าปี 58 จะดีกว่าปี 57 แน่นอน มองว่าปีหน้าจะเกิดโครงการใหม่ในแถบชานเมืองจำนวนมาก เช่น บางปู บางบัวทอง"

นายโสภณ กล่าวว่า จากการหดตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ มองว่าจะส่งผลดีในเรื่องที่จะไม่เกิดภาวะฟองสบู่ และช่วยทำให้เกิดการปรับฐานที่ดีขึ้น รวมถึงส่งผลต่อกำลังซื้อในปี 58 มีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อยอดขายวัสดุก่อสร้างที่อาจจะมียอดขายน้อยลง

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง คือ เรื่องของการเงินอสังหาริมทรัพย์ โดยขณะนี้ไม่มีการคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภค หากเกิดสถานการณ์เปราะบางที่ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินเกิดปัญหาทางการเงินขึ้น เงินดาวน์ของผู้ซื้อบ้านก็อาจสูญเสียไป มองว่าควรแก้ไขเป็นภาคบังคับกับผู้ประกอบการโดยรวม ร่วมกันรับผิดชอบคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงเรื่องที่สถาบันการเงินบางแห่งอาจอำนวยสินเชื่อ 95-110% ของมูลค่าบ้านและห้องชุดพักอาศัยด้วยเชื่อว่าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยคงไม่ทิ้งบ้านอย่างแน่นอนนั้น อาจเป็นการขาดวินัยทางการเงินได้ ซึ่งอาจเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กับสถาบันการเงินและทำให้สถาบันการเงินประสบปัญหาได้ในที่สุด

จากผลการสำรวจของ AREA พบว่า ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 57 มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด จำนวน 210 โครงการ ประกอบด้วยหน่วยขายทั้งหมด 49,816 หน่วย รวมมูลค่า 138,064 ล้านบาท โดยอุปทานใหม่ลดลง 28% ในแง่ของมูลค่าโครงการ และลดลง 24% ในแง่ของจำนวนหน่วยเมื่อเทียบกับปี 2556

โครงการเปิดใหม่เกือบทั้งหมดเป็นโครงการที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นเปิดน้อย เช่น อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อันได้แก่ ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน อสังหาริมทรัพย์อุตสาหกรรม อันได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม มินิแฟคตอรี่ และอื่น ๆ การที่ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัยเพราะอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นการใช้สอยของประชาชนในท้องถิ่น ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศมีจำกัดในช่วงที่ผ่านมา

ห้องชุดพักอาศัยมีสัดส่วนในตลาดถึง 51% ของจำนวนหน่วยเปิดใหม่ทั้งหมด คือเปิดห้องชุดใหม่ 25,291 หน่วย จากอุปทานทั้งตลาดที่ 49,856 หน่วย อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปี 56 ห้องชุดเปิดใหม่ถึง 70% ของทั้งตลาด

อสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นที่เปิดตัวมาก ได้แก่ ทาวนเฮาส์ 13,903 หน่วย หรือ 28% ของทั้งตลาด บ้านเดี่ยว 7,291 หน่วยหรือ 15% ของทั้งตลาด นอกนั้นเป็นบ้านแฝด อาคารพาณิชย์และที่ดินจัดสรร และหากเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่าบ้านเดี่ยวส่วนมากเสนอขายในราคา 3-5 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์กลุ่มใหญ่ที่สุดขายในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มห้องชุดกลุ่มใหญ่ที่สุดขายในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทเช่นกัน

"กรณีนี้แสดงว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยตามระดับราคาข้างต้นเป็นกลุ่มที่ยังเป็นที่นิยมของตลาด แสดงว่าตลาดต้องการที่อยู่อาศัยราคาปานกลางค่อนข้างถูก ซึ่งหาซื้อได้โดยผู้ที่จะซื้อเพื่อการใช้สอยจริง กับผู้ที่เป็นนักเก็งกำไรที่หาซื้อในราคาไม่แพงเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงสูงเกินไป"

ดัชนีสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือจำนวนหน่วยที่ยังเหลือขายอยู่ในปัจจุบัน นายโสภณ ระบุว่า ขณะนี้มีหน่วยขายรอการขายอยู่ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.57 อยู่ 157,730 หน่วย มีทั้งที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วซึ่งไม่มากนัก แต่ส่วนมากกำลังก่อสร้างอยู่ อย่างไรก็ตาม จำนวนนี้เทียบได้กับประมาณ 3.4% ของจำนวนบ้านทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และหากเปรียบเทียบกับในช่วงปี 40-42 สัดส่วนบ้านที่นำเสนอขายในตลาดกับจำนวนบ้านในตลาดทั้งหมดสูงถึง 5% และในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดเกิดวิกฤติ ตกต่ำสุดขีด แต่ขณะนี้ ณ สัดส่วน 3.4% จึงประเมินว่ายังไม่สูงเกินไป ยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ดังที่หลายฝ่ายวิตกกังวล

ตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 57 มีหน่วยขายที่อยู่อาศัยที่ขายได้ทั้งหมด 36,184 หน่วย โดยเป็นหน่วยที่มีผู้เข้ามาจองซื้อในสำนักงานขาย ลดน้อยลงตามกำลังซื้อที่หดหายไปมาก เมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 56 ที่ขายได้ถึง 58,741 หน่วย เท่ากับปริมาณที่ซื้อขายลดลง 37% ในขณะที่อุปทานใหม่ลดลงเพียง 28% ในแง่ของมูลค่าโครงการ และลดลง 24% ในแง่ของจำนวนหน่วย หากกำลังซื้อลดลงตามลำดับก็จะทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมมีความเปราะบางยิ่งขึ้น

แม้ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5% ในแต่ละทำเล แต่ละประเภท และแต่ละระดับราคา แต่ราคาเสนอขายเฉลี่ยของโครงการเปิดใหม่ กลับลดลงตามลำดับ โดยราคาเฉลี่ยของหน่วยเปิดใหม่ในปี 55, 56 และ ครึ่งแรกของปี 57 เป็นเงิน 2.937, 2.928 และ 2.771 ตามลำดับ สาเหตุเพราะตลาดมีกำลังซื้อที่หดหมายลง จึงต้องนำเสนอขายหน่วยขายที่ราคาไม่สูงมากนัก เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ซื้อได้กว้างขวางยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ