หัวหน้า คสช.ให้ความมั่นใจผู้นำธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ยันเร่งพัฒนาผลผลิต-ขยายพื้นที่ปลุกอ้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 24, 2014 18:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังคณะผู้นำธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมตัวแทนบริษัทค้าน้ำตาลระหว่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในโอกาสที่เดินทางมาประชุมงาน Asian Sugar Night in Bangkok ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน
ว่า แม้ในขณะนี้ประชาธิปไตยในประเทศอาจจะหยุดชะงักไป แต่ขอให้มั่นใจว่าการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะยังคงดำเนินต่อไป โดยขณะนี้ สถานการณ์บ้านเมืองของไทยก็กลับสู่สภาวะปกติมากขึ้น ไม่เกิดสถานการณ์ที่แสดงถึงความรุนแรงใดๆ สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจอ้อยและน้ำตาลนับเป็นภาคธุรกิจที่มีความต้องการสูงในทุกภูมิภาค โดยประเทศไทยให้ความสำคัญภาคอุตสาหกรรมนี้เป็นลำดับแรกๆเพราะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและระดับโลก โดยมีแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้กว่า 1 ล้านคนและมีผู้ประกอบการธุรกิจอ้อยและน้ำตาลที่จดทะเบียนในประเทศมากกว่า 3 แสนราย มีโรงงานที่ผลิตน้ำตาลได้มากถึง 750,000 ตันต่อวัน สร้างมูลค่าการซื้อขายน้ำตาลทั้งในประเทศและนอกประเทศมากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ผลผลิตจากการผลิตน้ำตาล ยังก่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆอีกมากมาย อาทิ การนำกากอ้อยไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และพลังงานชีวภาพ

นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ได้ย้ำถึงนโยบายอ้อยและน้ำตาลว่า จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมในลักษณะการโซนนิ่งพื้นที่ปลูก แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะยังคงพอเพียงต่อความต้องการของตลาดผู้ค้าและผู้บริโภค นอกจากนั้นจะดำเนินนโยบายให้มีการกระจายโรงงานขนาดเล็กเข้าไปตั้งในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยให้ความสำคัญกับโรงงานที่ไม่ก่อมลพิษและส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ซังปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาล 50 โรงงานซึ่งคนไทยเป็นเจ้าของทั้งหมด พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต และนำไปสู่การสร่างพลังงานทดแทนเพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอลให้มากยิ่งขึ้น

หัวหน้า คสช.ยังย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม ทั้งการสร้างถนน การสร้างรถไฟรางคู่ และการสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อใช้ขนส่งเพิ่มเติมในบางพื้นที่ รวมถึงจะมีการปรับปรุงด่านศุลกากรบริเวณชายแดนให้สามารถระบายสินค้าและการจราจรได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น การดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนเพื่อรองรับ AEC และการเพิ่มประสิทธิภาพระบบอนุญาตการส่งออกน้ำตาลที่มีการขออนุญาตผ่านระบบ National Single Window ให้ดียิ่งขึ้น

ในโอกาสเดียวกันนี้ หัวหน้า คสช.ได้เชิญชวนให้กลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งเป็นภาคธุรกิจระดับโลกที่มีปริมาณการซื้อกว่า 80% ของตลาดน้ำตาลโลกให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยเนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียและเป็นระดับ 2 ของโลก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จะดูเงื่อนไขพิเศษให้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ