(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออกมิ.ย.57โต 3.90% นำเข้าหด 14.03% เกินดุล 1.8 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 28, 2014 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.90% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนมาที่ 19,842.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวลดลง 14.03% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนมาที่ 18,049.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้า มิ.ย.57 เกินดุล 1,792.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
"การส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นไตรมาสแรก หลังจากหดตัวต่อเนื่องนานถึง 4 ไตรมาส โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ขยายตัว 0.30%" นางนันทวัลย์ กล่าว

ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.57) การส่งออกอยู่ที่ ขยายตัวลดลง 0.35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำเข้าขยายตัวลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน แต่ดุลการค้ายังเกินดุล 236.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน การส่งออกเดือน มิ.ย.57 ในภาพรวม สินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัว 3.9% โดยส่งออกสินค้าหลักกลับมาขยายตัวดีขึ้นหลังจากหดตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มยานพาหนะ และส่วนประกอบ กลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ ขยายตัว 9.6%, 9.2%, 3.4%, 3.4%, 3.3%, 3.2%, 2.5%, และ 0.8% ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.9 (YoY) จากการชะลอตัวจากคำสั่งซื้อที่ลดลงในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม เนื่องจากผ่านพ้นฤดูร้อนไปแล้ว การส่งออกเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบก็เริ่มชะลอตัวลง 3.4% จากการเร่งส่งออกในช่วงเทศกาลบอลโลกทำให้การส่งออกในแทบทุกตลาดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในตลาดเบลเยียม สิงคโปร์ และฮ่องกง เช่นเดียวกับการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่ชะลอตัวลง 3.4% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญลดลง ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

แม้การนำเข้าในภาพรวมจะหดตัวสูง แต่การนำเข้าสินค้าอุปโภค/บริโภคขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย 1.1% โดยสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลก

นางนันทวัลย์ กล่าวถึงทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังว่า จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าในครึ่งปีแรกซึ่งเป็นไปตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวได้ดีกว่าในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ส่งผลให้การส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวได้ดีขึ้นเช่นกัน ประกอบกับจากการสอบถามผู้ประกอบการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังเชื่อว่าการส่งออกทั้งปีจะเติบโตได้ 3.5% ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเชื่อว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือหากสามารถทำได้ที่มูลค่า 20,600 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ก็จะทำให้การส่งออกเป็นไปได้ตามเป้า

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ ค่าเงินบาท ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าไปจนถึงจุดใด รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังปรับตัวลดลง เช่น ยางพารา น้ำตาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ