(เพิ่มเติม) เอกชนเผยความเชื่อมั่น นลท.เริ่มฟื้น ร่วมมือรัฐเร่งผลักดันโครงการค้างท่อ-แก้กม.หนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 29, 2014 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เริ่มเห็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย โดยภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย มีการผลักดันการลงุทนโครงการอย่างต่อเนื่องโดยร่วมมือกับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งมั่นใจว่าโครงการที่ค้างคาอยู่ขณะนี้จะได้รับการอนุมัติได้ใน 2-3 เดือนนี้ รวมถึงมีการผลักดันเรื่องของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เพื่อแก้ไขลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตได้ง่ายขึ้น ขณะที่ยังมีอีกหลายโรงงานที่ยังดำเนินการไม่ได้ ก็จะทยอยขับเคลื่อนต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีเพื่อหาทางออก โดยปัจจัยสำคัญคือ การแก้ไขกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศุลกากร แก้ไขปัญหาภาษีซ้ำซ้อน และใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งทาง 3 สถาบันกำลังจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับภาคเอกชน

"เรากำลังจะขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแก้ไขกฎหมายให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน ทั้งของต่างชาติก็ดี ของไทยเองก็ดี หรือผลักดันให้กับ SMEs ให้เกิดความเข้มแข็ง ส่วนที่เรามีการผลักดันไปแล้วนั้นในเรื่องของ SMEs วาระแห่งชาติ โดยตรงนี้เราก็ดูอยู่ว่าโครงสร้างที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับการผลักดันให้ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี จากโครงสร้างตรงนี้เราก็กำลังจะดูว่าหากเราจะผลักดัน SMEs ทั้งหมดจะเป็นแบบไหน ในเรื่องของการตลาด การลดต้นทุน การขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศและการค้าชายแดน"นายสุพันธ์ กล่าว

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเริ่มมีความชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล มองว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มดีขึ้น จะเห็นได้จากในส่วนของเครือปูนฯ เองยอดขายปรับตัวดีขึ้นโดยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทฯมีการปรับกลยุทธ์ ซึ่งเน้นการส่งออกมากกว่าการขายภายในประเทศ โดยรวมมองว่าตลาดส่งออกยังมีการเติบโตได้ดีในภูมิภาคทั่วโลก

ทั้งนี้เรื่องที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้นั้น ควรจะต้องมีการแก้ไขปรับลดภาษี Business low เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติและผลักดันให้ไทยสามารถแข็งขันกับประเทศต่างๆได้ในอนาคต ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมหาศาล โดยควรจะมีการผลักดันต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

"ที่ผมอยากจะเสนอก็คือการที่จะเป็น Investment hub หรือศูนย์กลางการลงทุน และให้เป็นสำนักงานของภูมิภาค จะเห็นได้จากผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นหลายรายมักจะใช้สิงคโปร์ เป็น Regional Operating Headquarters ซึ่งต้องยอมรับว่าสิงคโปร์มีความพร้อม แต่ประเทศไทยเองก็สามารถที่จะแข่งขันได้เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยวันนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับประเทศไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งภาพต่างๆเปลี่ยนไป เรามีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบและน่าจะมีโอกาสการเติบโตอย่างมากในอนาคต โดยเฉลี่ยแล้วนักลงทุนที่มาอยู่ในประเทศไทย ที่ตั้งเป็นบริษัท 1 ราย จะส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจราว 4 ล้านบาทต่อราย" นายกานต์ กล่าว

นายกานต์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยควรมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนหรือบริษัทต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน โดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงานภูมิภาคในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 23% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่สิงคโปร์ที่เก็บภาษีอยู่ที่ 17% ทำให้ต่างชาติมีกำไรเหลือจากหักค่าใช้จ่ายและการลงทุนมากกว่าเข้ามาลงทุนในไทย

"ผมอยากให้ประเทศไทยใช้ช่วงเวลานี้ นำประเด็นนี้มาเป็นหนึ่งในนโยบายจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยด้วย" กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC ระบุ

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล(SPC) กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดยเฉพาะนโยบายที่จะปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งการแก้ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว ตลอดจนการกระตุ้นการลงทุนของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งมองว่าการแก้ไขปัญหาที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว

โดยเชื่อว่าการเข้ามาบริหารประเทศของคสช.ไม่ใช่การทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่กลับจะทำให้ประเทศไทยได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมาความเชื่อมั่นของประเทศไทยต้องถดถอยลงไปอย่างมาก แต่ขณะนี้จะเห็นได้ว่าทั้งประชาชน และนักลงทุนต่างมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เห็นได้จากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน

"แม้หลายคนจะมองว่าสถานการณ์ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะเป็นการทำลายประชาธิปไตย แต่ผมมองว่าไทยกำลังเดินสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงขึ้นมา" นายบุญชัยกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ