(เพิ่มเติม) ธปท.เผยเศรษฐกิจ มิ.ย.กระเตื้องขึ้นตามส่งออก-ความเชื่อมั่นเอกชนสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2014 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.57 ว่า เศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่สูงขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มมีความชัดเจน

อย่างไรก็ดี อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้ามีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงลดระดับการผลิตลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงปลายเดือน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่โดยรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุน โดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2/57 นายดอน กล่าวว่า คาดว่าจะเศรษฐกิจติดลบ 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)จะประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกหดตัว 0.6% หรือเท่ากับเป็นการติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจให้กลับคืนมาส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเริ่มฟื้นตัว

ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกที่ขยายตัวได้ แต่การส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าจากอุปสงค์ของภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอ โดย ธปท.คาดว่าทั้งปีการส่งออกยังจะเติบโตต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 3% สาเหตุจากการที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มลดลง รวมถึงสินค้าบางรายการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการนำเข้าสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ