เงินบาทเย็นนี้ 32.09/10 อ่อนค่าตามภูมิภาคจากแรงซื้อดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2014 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.09/10 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 31.99/32.01 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังประกาศตัวเลข GDP ของสหรัฐไตรมาส 2/57 ออกมาดี ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 31.98 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 32.11 บาท/ดอลลาร์
"กลับมาปรับตัวอ่อนค่าค่อนข้างจะรุนแรง หลัง GDP ของสหรัฐออกมาดีมาก ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับคืน" นักบริหารเงิน กล่าว

นักลงทุนรอดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ หรือ Non Farm Payroll คืนนี้

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.00-32.20 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX PM ณ วันที่ 31 ก.ค.57 อยู่ที่ระดับ 31.9919 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.77/80 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 102.77/80 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3396/3398 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3396/3398 ดอลลาร์/ยูโร
  • นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยภาวะเศรษฐกิจเดือน มิ.ย.57 เศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการส่งออกที่ขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่สูงขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มมีความชัดเจน อย่างไรก็ดีอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้ามีส่วนทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับสูง ธุรกิจจึงลดระดับการผลิตลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง แต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นในช่วงปลายเดือน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน มิ.ย 57 อยู่ที่ระดับ 48 ต่ำกว่า 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยค่าดัชนีฯ ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านการผลิต ด้านค่าสั่งซื้อ และด้านผลประกอบการ สะท้อนความกังวลด้านการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกที่ยังมีอยู่สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการที่ยังรอประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผลจากนโยบายภาครัฐ ส่วนอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมประเมินว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบันโดยค่าดัชนีฯ อยู่เหนือระดับ 50 และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ความเชื่อมั่นในเกือบทุกองค์ประกอบโดยเฉพาะด้านการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน ปรับดีขึ้นมาก สะท้อนมุมมองที่ดีของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ของปี
  • นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย(TMB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ไปจนปี 58 สภาพคล่องในระบบจะปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่สหรัฐเตรียมเลิกใช้มาตรการ QE และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 0.5-0.75% ซึ่งจะทำให้เงินในภูมิภาคไหลกลับไปยังสหรัฐฯ
  • นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 จะไม่ต่ำกว่า 92% แม้ที่ผ่านมาจะมีความล่าช้าไปกว่า 6 เดือน แต่ได้เร่งประสานให้ทุกหน่วยเร่งเบิกจ่ายตามความสามารถแล้ว ส่วนงบลงทุนผูกพันงบประมาณปี 57-58 มีวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทก็จะเร่งพิจารณาให้เดินหน้าในโครงการที่มีความพร้อมโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าระบบมากขึ้นประมาณ 50
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 4-5% ทำให้ทั้งปี 57 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวประมาณ 2-2.5% และคาดว่าตั้งแต่ปี 58 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า GDP ในช่วง 2-5 ปีตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะเติบโตใกล้เคียงกรอบ 5% โดยภาคการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากนักท่องเที่ยวมั่นใจและเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวตามปกติ ขณะที่การส่งออกเชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวประมาณ 7.5% ในปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อจะยังคงต่ำกว่าระดับ 3% แม้การลงทุนชะลอตัวลงและอาจมีการปรับเปลี่ยนเชิงลึกมากขึ้นในกิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ไอเอ็มเอฟคาดว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจะช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวสอดคล้องกับเป้าหมายที่ราว 7.5%
  • สำนักงานแรงงานของเยอรมนี เผยจำนวนคนว่างงานในเดือน ก.ค.57 ลดลง 12,000 คน สู่ระดับ 2.9 ล้านคน โดยเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และปรับตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ว่าจะลดลง 5,000 คน ส่วนอัตราว่างงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 6.7% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในยูโรโซนกำลังมีความแข็งแกร่งมากขึ้น หลังจากเผชิญกับภาวะชะลอตัวในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดเพิ่มขึ้นในวันนี้ เนื่องจากแรงเทขายหลังราคาพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 334 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.530% เพิ่มขึ้น 0.005% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ โดยในช่วงบ่ายนักลงทุนบางส่วนได้ถือโอกาสเข้าช้อนซื้อพันธบัตรเมื่อราคาอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ก.ย.ปรับตัวลง 0.06 จุด แตะที่ 145.92 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า

แท็ก เงินบาท   สหรัฐ   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ