เงินบาทปิด 31.97/98 กลับมาแข็งค่าช่วงท้ายตลาด ทุนไหลเข้ายังหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 21, 2014 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.97/98 บาท/ดอลลาร์ กลับมาแข็งค่าสุดของวันจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 32.00/01 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคและทิศทางของเงินทุนต่างประเทศ โดยระหว่างวันเงินบาทไปทำไฮที่ระดับ 32.08 บาท/ดอลลาร์
"เงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วงท้ายตลาด หลังจากมี flow ต่อเนื่อง" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.90-32.00 บาท/ดอลลาร์

"ทิศทางน่าจะกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง อาจลงมาแตะ 31.90(บาท/ดอลลาร์)ได้" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 103.85 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 103.93 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3265 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3247/3250 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,551.41 จุด เพิ่มขึ้น 0.64 จุด, +0.04% มูลค่าการซื้อขาย 47,958.15 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 70.43 ล้านบาท(SET+MAI)
  • ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์เลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย โดยได้รับความเห็นชอบ 191 คะแนน งดออกเสียง 3 คะแนน
  • นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่าภาคธุรกิจ ประชาชน และต่างชาติจะยอมรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเข้ามาดูด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย
  • นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ชี้หลังมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และมีการนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดี หลังจากหดตัว 0.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี จากการที่รัฐบาลใหม่จะสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและผู้บริโภคได้ดีขึ้น แต่อาจไม่สามารถเร่งตัวได้แรงเช่นในอดีต เนื่องจากมีความเสี่ยงใน 3 ประเด็น คือ ครัวเรือนไทยมีหนี้สูงขึ้นมาก, ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
  • พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 กล่าวว่า กมธ.ได้กำหนดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ก่อนที่ส่งร่างไปยังฝ่ายธุรการตรวจร่าง และจัดพิมพ์ เพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 17 ก.ย. ก่อนนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 22 ก.ย. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันในวันที่ 1 ต.ค.
  • นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านการเงินและการคลังว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบ 4 ยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ทั้งการเป็นตลาดและฐานการผลิตของอาเซียนร่วมกัน, การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน, การพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเสมอภาค และการบูรณการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ก่อนเสนอยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ AEC ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน รับทราบ
  • ผลสำรวจของมาร์กิต แสดงให้เห็นว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือน ส.ค.ปรับลงที่ 52.8 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 53.8 ในเดือน ก.ค. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ส.ค.ขยับลงที่ 50.8 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 51.8 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ก.ค.ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 53.5 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 54.2 ในเดือน ก.ค.
  • ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เบื้องต้นของเยอรมนีในเดือน ส.ค.ลดลงสู่ระดับ 54.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จาก 55.7 ในเดือน ก.ค. ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ส.ค.ขยับลงที่ 52.0 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 52.4 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ส.ค.ลดลงมาอยู่ที่ 56.4 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เมื่อเทียบกับระดับ 56.7 ในเดือน ก.ค.
  • ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) เบื้องต้นของฝรั่งเศสในเดือน ส.ค.เพิ่มขึ้นแตะ 50.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จาก 49.4 ในเดือน ก.ค. โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นในเดือน ส.ค.ลดลงแตะ 46.5 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 เดือน จากระดับ 47.8 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ส.ค.ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 51.1 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเทียบกับระดับ 50.4 ในเดือน ก.ค.
  • สมาคมร้านค้าสาขาของญี่ปุ่น(JCSA) เผยยอดขายของซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่นในเดือน ก.ค.ลดลง 2.1% เทียบเป็นรายปี เมื่อพิจารณาจากร้านค้าเดียวกัน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 หลังรัฐบาลขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อวันที่ 1 เม.ย. โดยยอดขายอาหารซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 64% ของทั้งหมด ขยับลง 0.5% ขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าปรับตัวลง 8.6% และสินค้าในชีวิตประจำวันเช่น ของใช้ในบ้าน และอื่นๆ ลดลง 2.7% เนื่องจากยอดขายสินค้าที่ซบเซาในช่วงฤดูร้อน ซึ่งสภาพอากาศไม่ดีนัก โดยยอดขายสินค้าทั้งหมดปรับตัวลงในระดับต่ำกว่าในเดือนก่อนหน้า
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดเพิ่มขึ้นในวันนี้ จากแรงเทขายหลังตลาดหุ้นโตเกียวปรับตัวขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 334 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.525% เพิ่มขึ้น 0.015% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ก.ย.ปรับตัวลง 0.16 จุด แตะที่ 145.86 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงลดลง 102 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,878 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,284.87 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 11.03 ดอลลาร์สหรัฐ
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ(ONS) เผยยอดค้าปลีกของอังกฤษในเดือน ก.ค.ซึ่งไม่รวมเชื้อเพลิงรถยนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือน มิ.ย. และปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ที่ 0.4% เป็นผลจากยอดขายเสื้อผ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยยอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.8% ขณะที่ยอดขายอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ