กรมปศุสัตว์ คาดส่งออกปีนี้ 1.4 แสนลบ.-หลายชนิดแนวโน้มราคาสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 28, 2014 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.สพ.สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปศุสัตว์ในประเทศไทยปีนี้ว่า ค่อนข้างไปได้ดี โดยคาดว่าปีนี้เราน่าจะส่งออกสินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ได้ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่ไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์รวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ครึ่งปีแรกส่งออกไปได้ 65,454 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 6.15%

โดยรายได้จากการส่งออกสัตว์ปีกมากที่สุดมีสัดส่วนส่งออกสูงถึง 55.32% จนทำให้เรากลายเป็นประเทศผู้ส่งออกไก่เนื้อได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงไปเป็นอาหารสัตว์ อาหารและของเล่นสัตว์เลี้ยง มีสัดส่วนอยู่ที่ 24.17% ส่วนผลิตภัณฑ์นม อยู่ในอันดับ 3 มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 7.99%

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรฐานการผลิตด้านปศุสัตว์ของไทยเป็นระดับโลก ทำให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เช่น อียู ญี่ปุ่น และในแถบอาเซียน ซึ่งการที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 คาดว่าเราน่าจะมุ่งเป็นฮับด้านปศุสัตว์ได้

"ไทยได้ชื่อว่ามีมาตรฐานการผลิตด้านปศุสัตว์ระดับสากล อย่างเรื่องโรคระบาดในสัตว์ก็สามารถควบคุมได้ 100% โดยเฉพาะไข้หวัดนก ทำให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนกมาเกือบ 6 ปีแล้ว ตรงนี้ทำให้ต่างประเทศมั่นใจคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ของไทย"

สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าปศุสัตว์นั้น ไก่เนื้อมีแนวโน้มราคาจะสูงขึ้น เพราะมีหลายๆประเทศสนใจอยากจะเป็นตลาดใหม่ให้ไทย เช่น เกาหลี รัสเซีย และประเทศในอาเซียน ขณะที่ด้านการผลิตต้องยอมรับว่าช่วงนี้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตกทำให้สัตว์ปีกซึ่งมีระบบการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายค่อนข้างต่ำเกิดความเครียดส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลงสัตว์อ่อนแอลง เมื่อสัตว์อ่อนแอ มีโอกาสติดเชื้อโรคง่ายทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่ในไก่จะพบปัญหาผลผลิตตกต่ำ หรือปริมาณไก่ขาดตลาดในช่วงนี้ ส่งผลให้ราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น

ยิ่งในช่วงหน้าฝนสถานที่เลี้ยงเกิดความเปียกชื้นจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และก่อให้เกิดการหมักหมมจนเกิดแก๊สแอมโมเนีย ยิ่งจะทำให้สุขภาพสัตว์แย่ลง เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่สำหรับกำจัดสิ่งปฏิกูลต่างๆอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่หรือเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะ

สุกร ปัจจุบันกรมการค้าภายในได้ประกาศราคารับซื้อและราคาจำหน่ายสุกรเนื้อสุกรแนะนำ ระหว่างวันที่ 19-24 ส.ค.57 โดยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม 78-80 บาท/กก. ราคาจำหน่ายส่งหมูชำแหละ(หมูซีก) ไม่เกิน 92-94 บาท/กก. ราคาจำหน่ายส่งชิ้นส่วนหมูเนื้อแดง(เนื้อสะโพก เนื้อไหล่)ไม่เกิน 127-128 บาท/กก. ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่ง ไม่เกิน 143-145 บาท/กก. และ ราคาจำหน่ายปลีกหมูเนื้อแดงตัดแต่ง (เนื้อสะโพก เนื้อไหล่) ไม่เกินราคา 154-157 บาท/กก.

"ราคาสุกรยืนราคามาหลายเดือนแล้ว และคาดว่าจะยืนราคาต่อไปหรืออาจจะลดลงนิดหน่อย"รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ด้านการผลิต กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย จัดทำมาตรการร่วมกัน ในการเร่งปรับปรุงการเลี้ยงและจัดทำมาตรฐานฟาร์มให้ได้เกิน 85% ของจำนวนหมูทั้งประเทศ โดยตั้งเป้าให้สามารถผลักดัน 7,000 ฟาร์ม จาก 8,000 ฟาร์มในปัจจุบัน เข้าสู่มาตรฐานให้ได้ภายในปี 2558 พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรหยุด-ละ-เลิกการใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.อาหารสัตว์ พ.ศ.2525 อย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการทำเขตโซนนิ่งฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ที่เริ่มแล้วในเขต 2 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่เลี้ยงหมูเพื่อการส่งออก

ส่วนโคเนื้อ ราคายืนอยู่ในระดับสูงมานานแล้วเพราะเรามีจำนวนโคเนื้อในประเทศลดลงเรื่อยๆ ซึ่งกรมปศุสัตว์มีมาตรการห้ามนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกไปจากประเทศ รวมทั้งมุ่งการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ซึ่งคาดว่าราคาน่าจะยืนอยู่ในระดับสูงต่อไป

ในส่วนของไข่ไก่ ล่าสุด Egg Board มีมติให้ควบคุมราคาไว้ที่ 3.30 บาท/ฟอง เนื่องจากในปัจจุบันราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากปัญหาอากาศแปรปรวนและมีโรคระบาดเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สินค้าปศุสัตว์ใหม่ที่กำลังนิยมและมีการส่งเสริมให้เลี้ยงมากขึ้นคือ แพะ และลามะ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของประเทศเวียดนาม โดยเวียดนามมีการสั่งซื้อแพะจากไทยผ่านทางด่านนครพนมวันละหลายพันตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ