ธปท.คาด GDP ปีนี้มีโอกาสโตเกิน 1.5% หาก H2/57 โตสูงกว่า 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 28, 2014 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.ยังคงประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจปี 57 ไว้ที่ 1.5% และมีโอกาสที่จะปรับประมาณการได้หากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 57 เติบโตได้ในระดับ 4% ซึ่งจากการติดตาม ธปท.มีความเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วง 4 ไตรมาสหลังจากนี้ หรือช่วงไตรมาส 3-4/57 และไตรมาส 1-2/58 ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 4-5%
"จะมีการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ คงจะต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในรอบเดือน ก.ย.57" โฆษก ธปท.กล่าว

สำหรับการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น นโยบายด้านภาษี ตามความเห็นของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.นั้น มองว่ามีปัจจัยที่ต้องติดตาม 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของระยะเวลาการปรับนโยบาย และ 2.ภาพรวมทั้งแพ็คเกจนโยบายว่าจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไร หากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการคลัง ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นก็อาจจะมีผลกระทบไม่มากนัก

โฆษก ธปท.กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีปัจจัยที่ต้องเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ ปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่ประเทศต่างๆเริ่มมีการฟื้นตัว ส่งผลให้อาจเริ่มมีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และ 2.ปัญหาเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่ขณะนี้เกิดการกังวลเกินกว่าเหตุ โดยขณะนี้ปัญหาดังกล่าวอยู่ในช่วงคลี่คลาย เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่นโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายก็หมดไปแล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.ได้พบปะหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ ก็ได้มีการสอบถามถึงทิศทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไป และต้องการให้นโยบายสนับสนุนมีความต่อเนื่อง รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่สามารถปฏิรูประบบต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ ธปท.ก็จะดูแลเรื่องของเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจและการเงินให้มีความเหมาะสม

ส่วนนโยบายลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดราคาน้ำมันขายปลีกนั้น โฆษก ธปท.กล่าวว่า จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และไม่ได้มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก เพราะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว แต่ก็อาจจะส่งผลในแง่ของการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ