ม.หอการค้า ลด GDP ปีนี้เหลือโต 1.5-2% จาก 2-2.5%, ปี 58 โต 4-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 4, 2014 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับประมาณการณ์อัตราการยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงมาเหลือเติบโต 1.5-2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2-2.5% ส่วนปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาเติบโตได้ถึง 4-5%
"ถ้าการเบิกจ่ายของภาครัฐไม่เร่งพอ เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวใกล้เคียง 1.5% แต่ถ้าเร่งเบิกจ่ายเงินตามแผน ก็มีโอกาสโตได้ 2.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว

ศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/57 คาดว่าจะเติบโต 3% และไตรมาส 4/57 คาดว่าจะเติบโต 5% โดยเฉพาะหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ยกเลิกกฎอัยการศึกบางพื้นที่ เช่น จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญก็จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นให้กลับมาคึกคักในช่วงปลายปีนี้ และส่งผลดีต่อภาพรวมของทั้งประเทศได้ รวมทั้งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นจากภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจที่จะลงทุนต่อเนื่อง

ขณะที่ภาคการส่งออกน่าทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน ภายใต้การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้เงินบาทอยู่ที่ประมาณ 32 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าพอจะพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ได้ อย่างไรก็ดี มองว่าการส่งออกปีนี้คงเติบโตได้เพียง 1-1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญยังไม่ค่อยดีนัก ทั้งสหภาพยุโรปและ จีน รวมถึงญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีบริโภค ดังนั้น จึงทำให้การส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน รวมทั้งจีนและญี่ปุ่นจะยังไม่โดดเด่นนักในปีนี้

นายธนวรรธน์ คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายงบประมาณ โดยการบริโภคจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ภายใต้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ในระดับ 1.5-2.0%

“การบริโภคน่าจะผ่านจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่อาจจะไม่หวือหวาอย่างที่คิด ดังนั้นตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไป จึงเป็นภารกิจสำคัญของ ครม.ชุดใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นโมเมนตัมของเศรษฐกิจจะฟื้นไม่เด่น และบรรยากาศความเชื่อมั่นอาจจะไม่คึกคักแบบที่ควรจะเป็น" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมมองว่า พื้นฐานของความเชื่อมั่นที่น่าสนใจและจะทำให้ภาคเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตได้ดีในอนาคต คือความเชื่อมั่นด้านการเมือง ซึ่งในเดือนส.ค.นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.5 ซึ่งถือว่าสูงสุดทำลายสถิติในรอบ 88 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนพ.ค.49

“สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้แข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 8 ปี ความเชื่อมั่นทางการเมืองในปีนี้ เราเชื่อว่าดัชนีเกิน 100 จุดแน่นอน เพราะคนหวังว่าการเมืองในอนาคตจะมีเสถียรภาพสูงหลังจากมีครม.ใหม่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้คนไทยและต่างประเทศมาลงทุนและมีการบริโภคอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเข้าใกล้ระดับ 90 จุดแล้ว ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 58 สามารถขยายตัวได้ถึง 4-5% “ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญในขณะนี้คือ ถ้าเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นจะกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองในระดับสูง โดยไตรมาส 4 ปีนี้จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวน่าจะเป็นความหวังที่สำคัญ ดังนั้น จึงต้องดูว่า คสช.จะพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อให้เป็นปัจจัยบวกสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวหรือไม่ ซึ่งจุดนี้จะทำให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในแต่ละพื้นที่

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือราคาพืชผลทางการเกษตรอาจจะยังไม่กลับมาดีได้ในระยะนี้ ดังนั้น ภาครัฐต้องช่วยประคองกำลังซื้อในต่างจังหวัด แต่หากกำลังซื้อยังไม่กลับมา เม็ดเงินของภาครัฐจะยิ่งต้องเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

“เม็ดเงินของภาครัฐจะเป็นกำลังสำคัญ ถ้าไม่เข้าไปหมุน ถ้าเศรษฐกิจแผ่วจะกลายเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังซื้อแผ่ว คนจะไปก่อหนี้มากขึ้นและกลายเป็นประเด็นให้กำลังซื้อหดหายไปถึงปีหน้า และจะเป็นประเด็นกดดันทางการเมืองสูง เพราะคนจะเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีสักที ความหวังสำคัญคือการให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายโดยเร็ว" นายธนวรรธน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ