สรรพากรรวบผู้ประกอบการทุจริตขอคืน VAT ทำรัฐเสียหายกว่า 2 พันลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 10, 2014 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า มีการกระทำการร่วมกันเป็นขบวนการเป็นนิติบุคคลกว่า 50 ราย ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์ เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีการทำธุรกรรมทางการเงินโดยการโอนเงินเข้าและโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารโดยการหมุนเวียนเงินจากผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างพยานหลักฐานให้เชื่อว่ามีการรับชำระเงินและการจ่ายชำระเงินค่าสินค้ากันจริง มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำการทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่รัฐแล้วกว่า 600 ล้านบาท แต่หากรวมกับการออกใบกำกับภาษีปลอมแล้ว จะสร้างความสูญเสียกว่า 2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ประสานงานกับกรมสรรพากรในต่างประเทศ ทั้งจากจีน ฮ่องกง และ สปป.ลาว ในการตรวจค้นกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกคอมพิวเตอร์ที่เป็นนิติบุคคล 50 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 10 รายเป็นรายใหญ่ ที่ต้องสงสัยว่าทุจริตในการส่งออก โดยพบว่า นิติบุคลคลเหล่านี้ ดำเนินการเป็นขบวนการด้วยการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่เป็นเท็จ และออกใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากการตรวจค้น พบหลักฐานทางการเงินใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการกระทำความผิดรวมทั้งตรวจพบหลักฐานเอกสารที่เชื่อมโยงไปถึงตัวการและ ผู้ร่วมขบวนการจำนวนมาก ซึ่งกรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับความผิดข้อหาออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายเป็นความผิดตาม มาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากรและผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี เป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (7) แห่งประมวลรัษฎากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

"กรมสรรพากรได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้มีการแก้ไขกฎหมายสรรพากรในการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจอายัติบัญชีธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ และการออกใบกำกับภาษีปลอม ก่อนการตรวจสอบในรายละเอียด เพื่อป้องกันปัญหาการผ่องถ่ายสินทรัพย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกฤษฎีกาตีความ เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป" นายประสงค์ กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในเดือน ส.ค.57 ว่า จัดเก็บได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนประมาณ 4 พันล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายของเดือน ส.ค.ถึง 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในเดือน ส.ค.-ก.ย.ได้ตั้งเป้าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 30% และการเก็บภาษีได้รับผลกระทบจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก ทำให้ยอดซื้อขายรถยนต์ในปี 2557 ลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจ อุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้ง ผู้ผลิตอะไหล่ เม็ดพลาสติก วิทยุ ทำให้การเก็บรายได้นิติบุคคลในเดือน ส.ค.ต่ำกว่าเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2557 คาดว่าจะต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนราว 3 หมื่นล้านบาท และต่ำกว่าเป้าหมายราว 1.2 แสนล้านบาท ส่วนเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ