ธปท.ชี้แม้บาทอ่อนแต่ผันผวนน้อยลง ยันดูแลไม่ให้กระทบภาคเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 10, 2014 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ว่า โดยภาพรวมค่าเงินบาทยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาดี แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม ส่งผลให้ตลาดคาดว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกกว่าที่คาดการณ์หรือไม่
"ค่าเงินบาทในปัจจุบันนั้น มีความผันผวนน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งธปท.ยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และเหมาะสม โดยไม่มีการกำหนดว่าระดับค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับใด แต่ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากจนกระทบต่อการเตรียมแผนของภาคเศรษฐกิจ" นายจิรเทพ กล่าว

ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศนั้น นายจิรเทพ กล่าวว่า คงไม่สามารถให้ความเห็นคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ เนื่องจากยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายว่าจะเน้นสนับสนุนเศรษฐกิจด้านใดบ้าง โดยธปท.จะติดตามความชัดเจนของนโยบายและการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีนี้ถึงปีหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากนักเท่ากับนโยบายการคลังและการบริโภค

พร้อมมองว่า สัญญาณการปรับขึ้นราคาก๊าชแอลพีจีและเอ็นจีวีนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นเพียง 0.01% เท่านั้น จึงไม่น่าห่วงแต่อย่างใด

ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 51 ทำให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกตราสารหนี้ที่ให้นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 หรือ เทียร์ 2 ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยรองรับความเสียหายในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา ซึ่งตราสารหนี้ที่มีการปรับปรุงรองใหม่นี้มี 2 ประเภท คือ ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ์ที่สามารถแปลงหนี้เป็นทุน และตราสารหนี้ที่ช่วยลดยอดหนี้ได้ โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินในไทยมีการออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุน 620,000 ล้านบาท

โดยหลังจากนี้ สถาบันการเงินไทยไม่จำเป็นต้องออกทดแทนทั้งจำนวน เนื่องจากเงินกองทุนของสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น 15.8% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดให้อยู่ที่ 8.5% และที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทยและทหารไทยได้ออกและเสนอขายตราสารเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel 3 ไปแล้วทั้งสิ้น 62,000 ล้านบาท ทั้งนี้การมี Basel 2 จะช่วยรองรับความเสียหาย ในภาวะที่สถาบันการเงินมีปัญหา เพราะจะสามารถช่วยลดภาระทางการเงินไดัดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ