พาณิชย์ เร่งระบายสต็อคข้าวเก่า-ดูแลราคา-จับมือก.เกษตรฯตั้งศูนย์ข้อมูล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 15, 2014 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แจงนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเต็มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างมั่นคง นโยบายการส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน โดยรัฐบาลมุ่งสร้างความพร้อมด้านระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้านกฎระเบียบ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาด่านชายแดน และด้านทรัพยากรมนุษย์

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

การดำเนินยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลจะมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ (1) ขับเคลื่อนกลุ่มยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี (2) ขับเคลื่อนกลุ่มยุทธศาสตร์ช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้เข้มแข็ง (3) ดำเนินการประเมินและติดตามความคืบหน้าของงาน ให้สามารถแสดงผลงานที่เป็นรูปธรรมแก่สาธารณชนได้

สำหรับ กลุ่มยุทธศาสตร์เร่งด่วน ได้แก่ การบริหารจัดการข้าวและสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญในเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่เหมาะสม มีหลักการที่สำคัญ คือ (1) การดูแลราคาสินค้าที่เหมาะสม โดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด ยกเว้นในกรณีที่กลไกปกติไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะใช้มาตรการเสริมเข้าไปจัดการดูแลราคาสินค้าอย่างรอบคอบ (2) การสนับสนุนมาตรการการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและการลดต้นทุนการผลิต (3) การสนับสนุนให้ชาวนาและเกษตรกรมีอาชีพเสริมในช่วงนอกฤดูกาลผลิต (4) การส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะ 1 ปีข้างหน้า ได้แก่

1. เริ่มระบายสต็อคข้าวเก่าประมาณ 15-18 ล้านตัน โดยใช้กลไกการระบายข้าวตามระบบการค้าข้าวอย่างรอบคอบและเหมาะสม และเร่งรัดช่องทางการระบายข้าวพิเศษอื่นๆ นอกเหนือกลไกปกติ อาทิ การระบายข้าวไปสู่ประเทศที่มีความต้องการข้าวแต่อาจจำเป็นต้องปัจจัยเสริม เช่น การให้สินเชื่อ การแลกสินค้า เป็นต้น

2. บริหารจัดการข้าวที่จะออกมาในฤดูกาลใหม่ โดยดูแลระดับราคาขั้นต่ำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพได้ตามความเหมาะสม

ส่วนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรหลักอื่นๆ กระทรวงพาณิชย์จะบริหารจัดการบนพื้นฐานหลักการสี่ประการข้างต้น โดยปรับใช้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลบูรณาการสินค้าเกษตรแห่งชาติเพื่อการบริหารจัดการในเชิงรุก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดทันการณ์

2. การดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย กระทรวงพาณิชย์จะดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามกลไกตลาด โดยเน้นไม่ให้มีการผูกขาด กักตุนสินค้า และให้มีปริมาณสินค้าเพียงพอ พร้อมส่งเสริมให้มีการกระจายแหล่งจำหน่ายสินค้าให้ทั่วถึง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค เช่น การส่งเสริมการจัดตั้งตลาดสินค้าสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น ในกรณีที่มาตรการข้างต้นไม่สามารถจัดการปัญหาค่าครองชีพได้อย่างเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์จะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาควบคุมราคาสินค้าสินค้าที่จำเป็นแก่การดำรงชีพของประชาชน

3. การขับเคลื่อนการส่งออกและพัฒนาการค้าชายแดน กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้มีการทบทวนความสามารถในการส่งออกของประเทศให้ชัดเจนเพื่อร่วมกับทุกฝ่ายกำหนดยุทธศาสตร์การส่งออกให้มีความต่อเนื่อง โดยในระยะสั้น จะเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์กระตุ้นการส่งออก ซึ่งรวมถึงการปรับแผนงานและเครือข่ายฑูตพาณิชย์ พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเร่งพัฒนาการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และจะฟื้นคืนความสำคัญของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (Re-engaging with Trade Regime) เพื่อให้ประเทศไทยกลับมามีบทบาทในเวทีทั้งในระดับภูมิภาคและเวทีโลก

4. การขับเคลื่อนสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN One) กระทรวงพาณิชย์มียุทธศาสตร์สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่มูลค่า พร้อมขยายโอกาสทางการค้า ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบและอำนวยความสะดวกทางการค้า นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินยุทธศาสตร์โดยการใช้โอกาสจากเวทีอาเซียนเป็นฐานสู่เวทีโลก ผ่านการรื้อฟื้นกลไกความสัมพันธ์และบทบาทนำของประเทศไทยที่มีอยู่ในกรอบความตกลงฉบับต่างๆ โดยเฉพาะ ความตกลง ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และ ASEAN+6 (หรือ RCEP ซึ่งประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ตลอดจนกรอบความตกลงพหุภาคีในองค์การการค้าโลก (WTO)

5. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจ (Smart Enterprise) กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินยุทธศาสตร์พัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง อาทิ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ่านการสร้างกลุ่มเชื่อมโยงแบบคลัสเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ตามกลุ่มธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลัสเตอร์ของอาหาร สิ่งทอ อัญมณี ธุรกิจบริการ และท่องเที่ยว นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนโครงการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนการสนับสนุนให้เป็นประเทศไทยมีบทบาทนำในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับอาเซียน (Creative ASEAN)

สำหรับ กลุ่มยุทธศาสตร์วางรากฐานเศรษฐกิจการค้าของประเทศสู่อนาคต ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกรและยกระดับสินค้าเกษตรกรรม

กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือบูรณาการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แนวทางที่สำคัญคือการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต โดยการกำหนดพื้นที่การผลิตเกษตรกรรมให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ สภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของเกษตรกร (Zoning) พัฒนาพันธุ์พืช แหล่งน้ำชลประทาน คุณภาพดิน และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน พืชนอกฤดูกาล และอาชีพเสริม สนับสนุนพืชผลการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการร่วมกำหนดวาระงานวิจัย (Research Agenda) ที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตรและตลาดสินค้าเกษตรทั้งภายในและภายนอกประเทศ

2. การพัฒนาสินค้าภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูง กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือบูรณาการกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติในการพัฒนากลุ่มสินค้าเป้าหมาย โดยเน้นยกระดับการพัฒนาสินค้าและบริการของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงตามห่วงโซ่มูลค่า (Move up the value chain) ควบคู่ไปกับการยกระดับขีดความสามารถและทักษะของผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก สนับสนุนนวัตกรรมการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ในขณะเดียวกัน ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานทางด้านการผลิตและการค้าที่เป็นสากล

3. การบูรณาการเพื่อพัฒนาวางรากฐานระบบลอจิสติกส์ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งพัฒนาระบบลอจิสติกส์ที่ทันสมัยสำหรับสินค้าและบริการเป้าหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย ตลอดจนลดการพึ่งพาระบบลอจิสติกส์ของต่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆ จะต้องร่วมกันพัฒนาระบบลอจิสติกส์ที่ครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การบรรจุภัณฑ์ และคลังสินค้า เชื่อมโยงไปถึงการขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดถึงผู้บริโภค โดยการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ที่ทันสมัยจะต้องมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ ด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านซอฟต์แวร์ (Software) ได้แก่ ผู้ประกอบการและบุคลากร และด้านโครงสร้างพื้นฐานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Infrastructure)

4. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการค้าให้ทันสมัยและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพตามลำดับความสำคัญและความจำเป็น

กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการค้าให้ทันสมัย โดยเฉพาะกฎหมายที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการตอบโต้การทุ่มตลาด กฎหมายค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า สร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย และป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจรายย่อย

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ กระทรวงพาณิชย์จะเน้นหลักการที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์ในหน่วยงานทุกระดับจะปราศจากการทุจริต, การบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมเป็นเกณฑ์ และกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินงานให้ส่งผลเป็นรูปธรรมและมีความโปร่งใส โดยจัดให้มีตัวชี้วัดและกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมถึงจัดทำกระบวนการประเมินและติดตามความคืบหน้าของงานอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตรวจสอบและแสดงผลงานต่อสาธารณชนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ