(เพิ่มเติม) รมว.พลังงาน หารือพรุ่งนี้เตรียมทำ MOU ซื้อไฟฟ้าพม่าเพิ่มเป็น 10,000 MW

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 17, 2014 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน จะเรียกผู้บริหารกระทรวงพลังงานเข้าพบเพื่อหารือข้อเร่งด่วนของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งหารือเตรียมการเจรจาความร่วมมือด้านพลังงานไทย-เมียนมาร์ เพื่อร่างข้อตกลงฉบับใหม่ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากฉบับเดิมทำไว้ 1,500 เมกะวัตต์เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมาและสิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 56

ทั้งนี้ ไทยและเมียนมาร์จะหารือเกี่ยวกับ MOU ฉบับดังกล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่จะจัดขึ้นที้ สปป.ลาว ในวันที่ 22-23 ก.ย.นี้

ด้านนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งนี้จะมีการหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาวในอนาคต โดยจะขอปรับเป็นการซื้อจากระบบไฟฟ้าของลาว แทนที่จะซื้อตรงจากผู้ผลิตในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้หากมีระบบรองรับพร้อมๆกับอาเซียนกริด

นอกจากนี้จะมีการหารือกับประเทศอื่น อาทิ เมียนมาร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ขายไฟฟ้าให้กับไทยมาอย่างต่อเนื่องว่าจะสามารถร่วมมือโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับท่าเรือขนส่งถ่านหินว่ายังมีอุปสรรคติดขัดหรือไม่ อาทิ ข้อกังวลเรื่องถ่านหินตกหล่น จึงได้นำประชาชนในพื้นที่เข้าไปดูกระบวนการของโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีของ บมจ.บ้านปู (BANPU) ซึ่งเป็นระบบปิด และใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ้งคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าและน่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 58 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 61

ผู้อำนวยการ สนพ.ยังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนของ สนพ.ได้รับมอบหมายจาก รมว.พลังงาน ให้รายงานแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 58-79 (PDP2015) และแผนประหยัดพลังงาน ส่วนกรณีการปรับขึ้นราคาพลังงาน ทั้งก๊าซ LPG และ NGV คาดจะมีการขยับขึ้นต่อไป โดยเฉพาะ NGV ที่ปัจจุบันขายที่ราคา 10.50 บาท/กก. เทียบกับต้นทุนที่ทางจุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการศึกษาไว้อยู่ที่ 15 บาท/กก.ดังนั้น ทิศทางจึงต้องปรับขึ้นราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเพื่อให้บมจ.ปตท. (PTT) มีรายได้มาขยายสถานีบริการแก้ปัญหารอคิวเติมก๊าซนาน และปรับปรุงสถานีบริการ

เช่นเดียวกับ LPG ที่ทิศทางราคาก็ต้องขยับขึ้น เนื่องจากราคาที่จำหน่ายให้กับภาคขนส่งยังต่ำกว่าภาคครัวเรือน ส่วนอัตราที่ปรับขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ