ม.หอการค้า คาดช่วง 10 ปีข้างหน้ามูลค่าส่งออกข้าวไทยถดถอย หลังมีผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 23, 2014 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ทำการประเมินสถานภาพข้าวไทยในตลาดโลกช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการนำข้อมูลทางด้านต้นทุนปลูกข้าว ราคา มูลค่าการส่งออก และสัดส่วนการส่งออกข้าวไทยในตลาดมาทำการวิเคราะห์ พบว่า ช่วงปี 2557-2566 มูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะสูญหายไป 87,500 ล้านบาท โดยตลาดที่มูลค่าการส่งออกจะหายไปมากสุดคือ ตลาดเอเชีย (ไม่รวมอาเซียนและตะวันออกกลาง) เสียหาย 181,000 ล้านบาท ตลาดยุโรป เสียหาย 67,000 ล้านบาท ตลาดอาเซียน 27,400 ล้านบาท แต่ยังมีบางตลาดที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 94,000 ล้านบาท แอฟริกามูลค่าเพิ่มอีก 132,000 ล้านบาท

โดยสาเหตุที่มูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงมาจากประเทศคู่แข่งขันในการส่งออกข้าวมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งเวียดนาม และอินเดีย โดยอินเดียคาดว่าปี 57 จะส่งออกได้ 10 ล้านตัน ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 ส่งออกได้ 9 ล้านตัน เวียดนามเป็นอันดับสาม

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้ส่งออกข้าวรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ทั้งพม่าที่ตั้งเป้าการส่งออกในอีก 5 ปีข้างหน้า จาก 1 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน ขณะที่กัมพูชา และอินโดนีเซีย เร่งเพิ่มผลิตข้าวเช่นกัน ส่วนผลผลิตข้าวไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งปลูกข้าวกลับไม่พัฒนาขึ้นเลย โดยไทยปลูกข้าวเฉลี่ยได้ผลผลิตต่อไร่เพียง 450 กิโลกรัม(กก.) แต่เวียดนามได้ถึง 1.2 ตันต่อไร่

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเมื่อเทียบราคาย้อนหลังในช่วง 10 ปี พบว่าราคาข้าวไทยห่างจากเวียดนามเฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ต้นทุนปลูกข้าวของชาวนาไทยกลับเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันต้นทุนปลูกข้าวต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 9,763 บาท เวียดนาม 4,070 บาท พม่า 7,121 บาท ส่วนรายได้ของชาวนาไทยอยู่ที่ 11,300 บาทต่อตัน เวียดนาม 7,251 บาทต่อตัน พม่า 10,600 บาทต่อตัน

"หากไทยยังไม่ปรับตัวเรื่องยุทธศาสตร์ข้าวในอีก 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าสถานการณ์ข้าวไทยจะแข่งขันลำบากในตลาดโลก ซึ่งต้องการให้รัฐบาลชดเชยปัจจัยการผลิตให้ชาวนา 20% ของต้นทุนการผลิต เช่น ต้นทุนปลูกข้าว 10,000 บาท รัฐบาลควรชดเชยให้ 2,000 บาท จะทำให้ชาวนามีเงินเหลือใช้จ่าย 3,000-4,000 บาทต่อตัน และจะอยู่รอดได้ โดยอาจตั้งเป็นกองทุนชดเชยปัจจัยการผลิต รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาผลผลิตข้าวต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น ควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าวใหม่ พื้นที่ใดเหมาะสมก็ควรส่งเสริมสนับสนุน จะช่วยทำให้ข้าวไทยมีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น และทำให้มีศักยภาพการแข่งขันได้ในตลาดโลก" นายอัทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ