(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส.ค.ส่งออกหด 7.4% นำเข้าหด 14.17% เกินดุล 1.14 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 29, 2014 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกในเดือน ส.ค.57 หดตัวลง 7.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนมาที่มูลค่า 18,943 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าลดลง 14.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน มาที่มูลค่า 17,797 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,146 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกเดือน ส.ค. 57 ในภาพรวมสินค้าในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 2.7 (YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกในหลายสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และน้ำตาลที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่กลับมาขยายตัว ตามความต้องการในตลาด จีนและอินโดนีเซีย

ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังคงหดตัว ได้แก่ ยางพารา มูลค่าหดตัว -23.3% ขณะที่ปริมาณลดลงเพียง -1.5% เป็นผลมาจากราคายางพาราในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลง เพราะยังมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก และอุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร รวมทั้งอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปที่กลับมาหดตัว ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โรคตายด่วนในกุ้ง(EMS)จะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเป็นเวลานาน ทำให้กุ้งไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดในตลาดหลัก (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร) ให้แก่คู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และอินเดีย รวมถึงทูน่ากระป๋องมีต้นทุนสูงขึ้นจากปริมาณวัตถุดิบที่ไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาสูงกว่าคู่แข่ง

ขณะที่สินค้าส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว -8.7% (YoY) ตามการหดตัวในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก และสิ่งทอ โดยเฉพาะกลุ่มยานพาหนะ และส่วนประกอบ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 12.8% ของมูลค่าส่งออกรวม กลับมาหดตัวที่ -8.9% เนื่องจากอินโดนีเซียมีมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ในภายในประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์บางส่วนย้ายไปเพิ่มการผลิตในตลาดอินโดนีเซียแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ไทยส่งออกรถยนต์นั่งขนาดต่ำกว่า 1,500 ซีซี ไปตลาดอินโดนีเซียลดลง

ส่วนสินค้ากลุ่มสิ่งทอหดตัวจากผู้นำเข้าเปลี่ยนฐานการผลิตไปที่ CLMV เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งตลาดเวียดนามมีการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำ โดยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีน ส่วนตลาดอินโดนีเซียมีการใช้มาตรการทุ่มตลาดสินค้าเส้นใยสังเคราะห์ ทำให้ความต้องการสิ่งทอลดลง แม้ว่าภาพรวมการส่งสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว

แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการยังมีการขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้างขยายตัวอยู่ที่ 7.0% ,9.1% และ 4.1% ตามลำดับ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของมูลค่าการส่งออกรวม ตลาดสำคัญ อย่างสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี มีอัตราขยายตัวในระดับสูงและเติบโตต่อเนื่อง

การนำเข้าเดือน ส.ค. 57 เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 56 (YoY) ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -14.2% (YoY) เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกในช่วงเวลาที่ผ่านมาชะลอตัว รวมทั้งการความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศลดลงจากปีก่อน ภายหลังสิ้นสุดโครงการรถคันแรก ส่งผลให้การนำเข้าลดลงทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค/บริโภค และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ มีการนำเข้าลดลง -10.2%, -7.1% และ-24.2% (YoY) ตามลำดับ

ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลง -11.7% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบมีสัดส่วน 17.9% ของมูลค่าการนำเข้ารวม มูลค่าลดลง -10.1% ขณะที่เชิงปริมาณลดลง -8.9% ทั้งนี้มีการนำเข้าสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นถึง 38.1% ในส่วนสินค้ากลุ่มทุนมีการนำเข้าลดลง -21.1% เนื่องจากเครื่องจักรมีการนำเข้ามาในช่วงก่อนหน้าภายหลังช่วงฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย รวมถึงผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมได้ให้ความสำคัญกับการสั่งซื้อเครื่องจักรภายในประเทศเพื่อประหยัดต้นทุนการจัดซื้อและการบำรุงรักษา

ขณะที่ช่วง 8 เดือนปีนี้(ม.ค.-ส.ค.57) มูลค่าการส่งออกลดลง 1.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 150,543 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลง 12.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน มาที่ 150,263 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดุลการค้ายังเกินดุล 280 ล้านเหรียญสหรัฐ

"การส่งออกในครึ่งปีหลังฟื้นช้ากว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวในสินค้าทองคำและน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะยางพาราที่ยังหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลัง" นางนันทวัลย์ กล่าว

การส่งออกทองคำและน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวโดยทองคำหดตัวสูง เนื่องจากฐานมูลค่าส่งออกทองคำในเดือนส.ค.56 มีมูลค่าสูงถึง 1,029 ล้านเหรียญฯ ลดลงเหลือเพียง 72 ล้านเหรียญฯในเดือนส.ค.57 หดตัวถึง -92.9% เนื่องจากในเดือน ส.ค.56 เป็นช่วงที่มีการเร่งส่งออกทองคำ เพื่อทำกำไร ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มการลงทุนทองคำชะลอตัว รวมทั้งจีน นำเข้าทองคำจากฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดส่งออกทองคำสำคัญของไทยลดลง โดยตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ และ ฮ่องกง (มีสัดส่วนร้อยละ 61.4 ของมูลค่าส่งออกทองคำรวม) หดตัวสูงถึง -91.9% และ -95.7% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ -16.1%

อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล ซึ่งขยายตัวสูงทั้งมูลค่าและปริมาณ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งในระยะ 8 เดือน มีปริมาณส่งออกทั้งสิ้น 6.6 ล้านตัน ขยายตัวถึงร้อยละ 86.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวและต้องจับตามอง ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งหดตัวสูงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย รวมถึงตลาดใหม่ที่ขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรกเริ่มมีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ลดลง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมทั้งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีคำสั่งซื้อเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ นอกจากนี้จะมีการเร่งส่งออกก่อนที่สหภาพยุโรป (EU) จะตัดสิทธิ์ GSP กับไทยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ