ธ.ออมสิน กำหนดวิสัยทัศน์-พันธกิจปี 58-62 เป็นผู้นำการออม-ส่งเสริมศก.ฐานราก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2014 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคาร กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กรใหม่ที่จะใช้เป็นแนวทางในปี 58-62 เพื่อให้การดำเนินงานผ่านช่องทางทั้งหมดของธนาคารามีศักยภาพมากยิ่งขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งภายใต้ภารกิจในการมุ่งส่งเสริมการออม และสร้างวินัยทางการเงินในภาคประชาชน ตลอดจนการขยายธุรกรรมทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงรองรับความต้องการเข้าถึงแหล่งทุนตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ใหม่ คือ“เป็นผู้นำในการส่งเสริมการออม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความสุขของประชาชน" ซึ่งดำเนินภายใต้พันธกิจ 1. ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน 2. สนับสนุนการลงทุนและการพัฒนา 3. ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ 4. ให้บริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน รับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน

นายธัชพล กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ธนาคารมุ่งให้ความสำคัญด้านบริการอย่างมีคุณภาพ ภายใต้เครือข่ายและช่องทางการให้บริการของธนาคารที่พร้อมจะมุ่งนำนโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมาย ผ่านสาขาให้บริการเต็มรูปแบบจำนวน 1,009 แห่ง เครื่องให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และตู้เอทีเอ็มมีจำนวนกว่า 7,500 เครื่อง หน่วยให้บริการเคลื่อนที่ (ธนาคารเรือและรถตู้) จำนวนกว่า 100 หน่วย มีธนาคารโรงเรียนธนาคารออมสิน เพื่อปลูกฝังการออมตั้งแต่วัยเด็กผ่านสถานศึกษาอีกกว่า 1,000 แห่ง

สำหรับผลประกอบการของธนาคารออมสินช่วง 9 เดือนปี 57 มีกำไรก่อนหักผลกระทบมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 19 และตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 13,607 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ รวมทั้งความสำเร็จในการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิถึง 41,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 723 ล้านบาท มาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.57 มีเงินให้สินเชื่อ 1,804,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 125,626 ล้านบาท

การขยายตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 56 มาจากการปล่อยสินเชื่อที่เป็นไปตามนโยบายเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อบุคคลรายย่อย สินเชื่อแก่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อแก่กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยที่ธนาคารฯ ยังดำรงสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยต่อสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 94 : 6

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย.57 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2,294,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 56 จำนวน 117,802 ล้านบาท

ขณะที่การรับฝากเงินภายใต้ภารกิจความเป็นสถาบันเพื่อการออม มียอดเงินฝากรวม 1,964,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 85,010 ล้านบาท โดยปริมาณเงินฝากยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จากการที่ธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพิ่มสุข" อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 5.5% ต่อปี เปิดรับฝากถึงสิ้นปี 57 เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 5 เดือน และ 9 เดือน ที่ล่าสุดได้ขยายระยะเวลารับฝากไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.57 เงินฝากสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัว ที่อยู่ระหว่างออกรูปแบบใหม่ เพื่อกระตุ้นการออมควบคู่กับความคุ้มครองชีวิตและใช้สิทธิ์นำไปหักลดหย่อนภาษีในช่วงเทศกาลลดหย่อนภาษีในปลายปี รวมถึงเงินฝากที่ผู้ฝากให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง คือ สลากออมสินพิเศษ 3 ปี

“ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ส่วนหนึ่งมาจากการให้สินเชื่อตามนโยบายของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, รายย่อย และธุรกิจเอสเอ็มอี โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่สินเชื่อปกติยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ เงื่อนไข และโปรโมชั่นที่น่าสนใจและตรงกับความต้องการของลูกค้า อาทิ สินเชื่อ SMEs สุขใจ มีผู้สนใจใช้บริการกว่า 5,000 ราย สามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 1,500 ล้านบาท ประกอบกับมีปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นจากการออกผลิตภัณฑ์ที่จูงใจเพียงพอต่อการขยายเงินให้สินเชื่อด้วย"นายธัชพล กล่าว

ส่วนเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 56 จนถึงช่วงกลางไตรมาส 2/57 รวมถึงเหตุพิบัติภัยในพื้นที่ภาคเหนือกลางปี 57 ส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนขาดความสามารถในการชำระหนี้ ธนาคารจึงผ่อนปรนด้วยมาตรการต่างๆ ได้แก่ การช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรายย่อยจนถึงระดับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ด้วยการลดเงินงวดผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน, มาตรการบรรเทาเหตุแผ่นดินไหว พักชำระหนี้ลูกค้าเดิมไม่เกิน 6 เดือน ลดเงินงวด/ขยายเวลาผ่อนชำระ และให้กู้เพิ่มเติม มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าโครงการกว่า 90,000 ราย อนุมัติแล้ว 37,000 ราย คิดเป็นเงิน 11,000 ล้านบาท เป็นผลให้การรับรู้รายได้ของธนาคารฯ ขยายตัวลดลงบ้าง และต้องบันทึกยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ตามเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม พร้อมกับเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ ซึ่งการแก้ไขหนี้อย่างมีประสิทธิภาพดังกล่าว ธนาคารฯ ได้ดำเนินการควบคู่กับการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมและรัดกุม ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 3 ปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพทยอยปรับลดลง ทำให้คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ