TDRI แนะรัฐใช้มาตรการกระยะยาวลดความเหลื่อมล้ำ มองเก็บภาษีที่ดินฯมีประสิทธิภาพกว่าภาษีมรดก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 17, 2014 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)กล่าวในงาน BOT Symposium 2014 เรื่อง“มิติใหม่ของภาคการเงินเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน"ว่า การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลที่เป็นมาตรการระยะสั้นเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการระยะยาวควรมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาประเทศทั้งในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

ขณะที่นโยบายทางด้านภาษีนั้น มองว่าการจัดเก็บภาษีมรดกคงไม่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐมากนัก แต่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากสามารถกระจายเม็ดเงินจากคนรวยมาสู่ระดับล่างได้มากขึ้น

ส่วนแนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)จาก 7% ในปัจจุบันนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการจัดเก็บรายได้ที่ดี เนื่องจากมีฐานการจัดเก็บกว้าง แต่การจะปรับขึ้นเป็นอัตราเท่าใด ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะต้องมีแผนชัดเจนในการนำรายได้ที่จะจัดเก็บเพิ่มขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์

สำหรับมาตรการภาษีคนจน (Negative Income Tax) แม้อาจเข้าข่ายรูปแบบนโยบายประชานิยม และเป็นภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล แต่ถือว่าใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าโครงการรับจำนำข้าวและการกระจายรายได้ด้านอื่น อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนคนจนเพื่อไม่ให้เกิดการสวมสิทธิขึ้น

พร้อมกันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้เผยแพร่บทวิจัยเรื่อง"บทบาทของการเงินคต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย"ว่า ความเหลื่อมล้าถือเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจในวงกว้าง แต่ยังไม่มีงานศึกษาที่เน้นถึงบทบาทของระบบการเงินที่มีต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเป็นพิเศษ บทความนี้ จึงมุ่งศึกษาถึงบทบาทของการใช้บริการระบบการเงินผ่านสถาบันการเงินแบบทางการต่อความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยพิจารณาผ่านการสำรวจงานวิจัยในอดีต และการทดสอบเชิงประจักษ์

งานวิจัยนี้ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ไม่ได้มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภคยังต่ำกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ส่วนหนึ่งจากการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ปัจจัยที่นำไปสู่ความเหลื่อมลำที่สำคัญ ได้แก่ ความแตกต่างของระดับการศึกษา อาชีพ การเข้าถึงบริการทางการเงิน

ทั้งนี้ บทบาทของการเข้าถึงบริการจากสถาบันการเงินในการลดความเหลื่อมล้ำผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) การบริหารความเสี่ยง โดยช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถกู้ยืมซึ่งช่วยให้การใช้จ่ายไม่แปรผันตามระดับรายได้ และ 2) การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยบริการของสถาบันการเงินมีส่วนช่วยลดปัญหาข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจจากการขาดเงินทุน ซึ่งการผสมผสานการใช้บริการทางการเงินทั้ง 2 ช่องทางจะช่วยให้สถาบันการเงินให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

นอกจากนั้น ผลการศึกษานำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ว่าภาครัฐควรส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพื่อให้ครัวเรือนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานระหว่างการให้สินเชื่อกับผลิตภัณฑ์ที่ช่วยจัดการความเสี่ยง อันจะส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ