สศอ.ลุยเพิ่มมูลค่าเส้นใยจากวัสดุเหลือทิ้ง เสริมรายได้และความมั่นคงด้านวัตถุดิบภาคอุตฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2014 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการบูรณาการการทำงานระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ ใบสับปะรด เปลือกผลตาล เปลือกหมาก ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศ ให้กลับมาเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเฉพาะทางหรือสิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาดยุโรป จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเปิดมุมมองแหล่งวัตถุดิบจากธรรมชาติชนิดใหม่ ให้กับวงการเส้นใย เพื่อดึงดูดผู้ผลิตสิ่งทอเทคนิคทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างโอกาสและทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร และรองรับกระแสนิยม ECO Textile ในขณะนี้

สิ่งทอเฉพาะทาง หรือสิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและรูปแบบเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งานนอกเหนือจากสิ่งทอทั่วไป เช่น ถุงลมนิรภัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เสื้อเกราะกันกระสุน ไส้กรองอากาศและน้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะเป็นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยตรงจากเส้นใย ที่เรียกว่า ผ้าไม่ถักไม่ทอ หรือ นอนวูฟเว่น (nonwovens) ปัจจุบัน มีการนำสิ่งทอเฉพาะทางดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในงานด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ การขนส่ง สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การเกษตร การก่อสร้าง การกีฬา บรรจุภัณฑ์ และเสื้อผ้าป้องกันประเภทต่างๆ ทำให้ตลาด สิ่งทอเทคนิคของโลกขยายตัวมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีปริมาณความต้องการใช้สูงถึง 20 ล้านตันต่อปี

"สิ่งทอเฉพาะทางในยานยนต์ (Mobil Tech) จะเป็นสิ่งทอเทคนิคเพื่อช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย เพิ่มความสวยงาม ป้องกันความร้อน เพิ่มความปลอดภัย ช่วยเก็บเสียง และน้ำหนักเบาซึ่งจะช่วย ในการประหยัดพลังงานในรถยนต์ โดยในปี 2005 ปกติรถยนต์ 1 คัน จะใช้สิ่งทอเทคนิคในส่วนต่าง ๆ ประมาณ 40 รายการ คิดเป็นน้ำหนักสิ่งทอเทคนิคเฉลี่ย 21 กิโลกรัม แต่ในปี 2010 ใช้สิ่งทอเทคนิคเพิ่มขึ้นเป็น 26 กิโลกรัม และ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 35 กิโลกรัม ในปี 2020 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดรถยนต์เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสิ่งทอเฉพาะทาง"นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในขณะนี้เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในเรื่อง พื้นที่เป้าหมายซึ่งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ปรึกษาโครงการได้ลงสำรวจความพร้อมทั้งบุคลากรและปริมาณวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ และติดตั้งเครื่องจักรต้นแบบในการผลิตเส้นใยธรรมชาติ โดยกำหนดที่จะผลิตเส้นใยสับปะรดในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.พิษณุโลก เส้นใยตาล จะผลิตในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และเส้นใยหมาก จะผลิตในพื้นที่ จ.อุทัยธานี ในส่วนของเครื่องจักรได้ออกแบบชุดเครื่องแยกเส้นใยจากผลของลูกตาลเครื่องแยกเส้นใยจากใบสับปะรด และเครื่องแยกเส้นใยจากผลหมากเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องจำนวน 5 เครื่อง เพื่อให้เกิดความพร้อมในการติดตั้งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การผลิตเส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรด เปลือกผลตาล และเปลือกหมาก ได้คุณภาพเหมาะที่จะนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวจะเป็นต้นแบบของเครื่องสางเส้นใยเฉพาะที่จะนำไปติดตั้งให้กับกลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่และอาจขยายผลไปสู่พื้นที่ที่เหมาะสมในระยะต่อไป เป็นการลดความสูญเสียจากเดิมที่มีการนำเข้าเครื่องจักรที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน

สำหรับเส้นใยสับปะรด ใยตาล และใยหมาก ที่ได้จากเครื่องจักรต้นแบบดังกล่าว จะถูกนำมาสู่ขั้นตอนการวิจัยผลิตเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีคุณสมบัติสำหรับใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคประเภทต่าง ๆ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการคัดเลือกและมีความพร้อม ในด้านการวิจัยและพัฒนามารับช่วงต่อจากภาคเกษตรกร โดยผลการวิจัยเบื้องต้นได้คุณสมบัติ ที่น่าสนใจของแต่ละ เส้นใยที่จะนำมาใช้ผลิตสิ่งทอเทคนิคประเภทต่างๆ คือ เส้นใยสับปะรด จะเป็นเส้นใยยาว ละเอียดคุณภาพดี นุ่มเหมือนฝ้ายแต่แข็งแรงกว่า มีขนาดเล็ก ความหนาแน่นมีค่าอยู่ระดับเดียวกับเส้นใยแก้ว จึงเหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคในยานยนต์ เช่น ไฟเบอร์ตกแต่งรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ดูดซับเสียงในชิ้นส่วนรถยนต์ แผ่นบุประตูและบุผนังดูดซับเสียงในเรือไฟเบอร์ เป็นต้น เส้นใยตาล ลักษณะภาคตัดตามขวางเส้นใยจะมีรูกลวงทำให้เกิดการคืนตัวได้ดี มีค่าการยืดตัว ณ จุดขาดที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเส้นใยเซลลูโลสอื่น และสามารถเก็บความร้อนได้ดี จึงเหมาะ ที่จะนำไปผลิตสิ่งทอเทคนิคทางกีฬาและนันทนาการ เช่น เป็นถุงนอน (Sleeping bag) เสื้อกันหนาวที่บุด้วยแผ่นกันความร้อน แผ่นผนังป้องกันความร้อนกระเป๋ากักเก็บอุณหภูมิ เป็นต้น และเส้นใยหมาก จะเป็นเส้นใยสั้น ที่มีความนุ่ม มีรูพรุน น้ำหนักเบา มีค่าความชื้นสูงเหมาะในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการเกษตร เช่น Under floor carpet, Package tray ที่เพาะต้นกล้า วัสดุห่อพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคจาก เส้นใยทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวจะออกมาให้วงการอุตสาหกรรมได้ยลโฉมกันประมาณช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้ สศอ. คาดหวังว่า การดำเนินการในลักษณะบูรณาการตามโครงการดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักร/อุปกรณ์ในภาคการเกษตรที่เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตรของไทย และสร้างความหลากหลายให้กับวัสดุเส้นใยจากธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในภาคอุตสาหกรรมที่ตอบรับกระแสความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรอย่างใกล้ชิด อันจะนำมาซึ่งรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเกษตรกรจากการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ