นายกฯ สั่งนำสัมปทานปิโตรเลียมเช้า สปช.เป็นเรื่องแรกคาดชัดเจน 2-3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 28, 2014 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า ในส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้สั่งการไปแล้วว่าให้ทาง สปช. ด้านพลังงานไปหาแนวทางภายใน 2 เดือน แล้วนำมาเสนอต่อกระทรวงพลังงาน หรือ รัฐบาล ซึ่งหากเห็นว่ามีความเป็นไปได้ก็จะดำเนินการควบคู่กันไป พร้อมย้ำว่าการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นการนำสัมปทานเก่ามาเปิดใหม่สำหรับในแปลงที่หมดอายุ และหากไม่ทำวันนี้จะเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งพลังงาน ซึ่งกว่าจะดำเนินการได้คงต้องใช้เวลาถึง 8 ปี
"การให้สัมปทานแหล่งพลังงานมีความล่าช้ามาแล้ว 2 ปี เพราะตามแผนเดิมต้องเริ่มตั้งแต่ปี 53 พร้อมยืนยันว่าทุกแปลงที่จะให้สัมปทานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนและคำนึงถึงเรื่องแหล่งท่องเที่ยวที่จะไม่มีผลกระทบด้วย"นายกฯ ระบุ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่าการพูดคุยในเรื่องความร่วมมือด้านแหล่งพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น รัฐบาลจะยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยการเจรจาจะดำเนินการอย่างเปิดเผย ไม่มีการเจรจาใต้โต๊ะ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ขณะที่การเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดนจะต้องพูดคุยกันให้เข้าใจว่าจะยังไม่นำเรื่องเขตแดนมาสู่การเจรจาความร่วมมือดังกล่าว แต่จะเน้นการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไรบ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอบคุณที่ประชาชนให้ความสนใจในเรื่องนี้ แต่ไม่อยากให้เกิดความกังวล หลังจากนี้รัฐบาลคงได้มีโอกาสพูดคุยกับหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน กัมพูชา และญี่ปุ่น หากตกลงกันได้ก็จะเป็นการตกลงในหลักการ และหากสามารถหาความร่วมมือร่วมกันได้ระหว่างรัฐต่อรัฐก็จึงค่อยไปดำเนินการเซ็นสัญญากับในขั้นต่อไป

"เรื่องการพูดคุยแหล่งพลังงานกับประเทศรอบบ้าน เรายึดประโยชน์ของเรา 100% ไม่ต้องกลัว เราคงไม่เอาแผ่นดินไปขายให้ใคร เราต้องทำให้เกิดความโปร่งใสให้มากที่สุด ในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนจะดูอีกที ต้องคุยกันเปิดเผยรัฐบาลต่อรัฐบาลและจะต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกันว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์ได้อย่างไร"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงพลังงานชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการเปิดสัมปทานยปิโตรเลียมรอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความเข้าใจให้กับสังคมได้มากขึ้นว่าทำไมเรื่องนี้จึงรอให้มีการปฏิรูปก่อนไม่ได้ เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

"หากเราโลเล นักลงทุนก็หนีไปประเทศอื่น เพราะไม่มีอะไรดึงดูด...โดยนายกฯ ได้เร่งรัดให้นำเรื่องนี้เข้าสภาปฏิรูปฯ เป็นเรื่องแรก และอยากให้ได้ข้อยุติในเบื้องต้นในช่วง 2-3 เดือนเพื่อจะให้เห็นว่าเราไม่ได้ละเลยคำร้องของผู้ที่เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยทั้งหลาย และจะได้ภาพประกอบการตัดสินใจของรัฐบาล"พล.อ.สรรเสริญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ